วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566

News Update

วช. ชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ NRCT Open House 2022

                วันที่ 18 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ”  เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ

                ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ซึ่งวันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่เจ็ด โดยเป็นด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ   เพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้ประเทศสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 20 ปี และแผนกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี และเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จึงต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมที่ชัดเจนและเป็นระบบ  มีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการสร้างนวัตกรรมที่พลิกโฉมฉับพลันอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 2566 – 2570 ได้กำหนดเป็นมาตรการในการช่วยกระตุ้นโดยเป้าหมายในปีงบประมาณ 2570 ที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (FTE) ให้อยู่ในสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน  และประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ให้เป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ที่เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

               กิจกรรมภายในงาน มีการเสวนา เรื่อง “ความสำคัญของการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย” มีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้แทนจาก สกสว. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้แทนจาก บพค.

               นอกจากนี้ ยังมีการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยทั้ง 5 ท่าน ดังนี้ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์    ศาสตราจารย์ ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา   ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ  ชัยลภากุล ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย  สายสิงห์ และ ดร.ธีรวัฒน์  นิธิอรรถวานนท์ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการต่อไป

               สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึง วันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th ต่อไป