คุยกับ”ช่างเอก” ผู้ประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้า”โซลาร์เซลล์”

New Energy

ในยุคลดโลกร้อน ผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างตระหนักถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะลดการใช้พลังงานฟอสซิล ขณะที่หลายปีมานี้โซลาร์เซลล์เข้ามามีบทบาทในทุกวงการ เพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ผู้คนทั่วโลกนิยมใช้กันมากขึ้น เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มาก

            หลายวันก่อน ได้สนทนากับ”นายกฤษณะ สิทธิหาญ” หรือที่เรียกกันในนาม”ช่างเอก”เจ้าของไร่ช่างเอก  บ้านวังเลียบ ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง  ซึ่งได้ประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์  แบบไม่ต้องใช้น้ำมัน โดยพัฒนาจากเครื่องตัดหญ้าแบบล้อเข็นต้นแบบที่ได้คิดค้นมาก่อนหน้านี้แล้ว

           “ไร่ช่างเอก”  ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  มีบรรดาเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานตลอด เพราะใช่จะมีงานนวัตกรรมด้านเกษตรอย่างเดียว ที่นี่ยังเป็นไร่สับปะรดแปลงใหญ่ด้วยที่ปลูกสับปะรดสายพันธุ์ใหม่อีกด้วย

           สำหรับเครื่องตัดหญ้าติดแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าว ทำงานด้วยมอเตอร์กำลังสูงที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง  แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กก็สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ระหว่างการใช้งาน หรือถึงแม้จะเป็นวันที่ไม่มีแสงอาทิตย์ก็สามารถใช้งานได้ด้วยแบตเตอรี่สำรอง

           อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ ถ่านลิเธี่ยมฟอสเฟต ขนาด 3.2 โวลล์ 16 ก้อน นำมาปรับสภาพให้มีประจุความแรงให้เท่ากัน เพื่อให้ได้กำลังไฟออกมา 24 โวลล์ นำไปขับเคลื่อนมอเตอร์ให้มีกำลังไปหมุนแกนบังคับใบมีด ขณะที่ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบาเพียง 2.5 กิโลกรัมเท่านั้น และกะทัดรัด ทั้งผู้หญิงและผู้สูงอายุใช้ได้สบาย ราคาประมาณ 1 หมื่นต้น ๆ (สอบถามได้ที่ 095-450-4181)

           ด้วยจุดเด่นดังกล่าว ทำให้ได้รับรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ในโครงการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน  จัดโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น

           นอกจากจะมีความรู้ความสามารถด้านช่างแล้ว  ในฐานะที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่สืบสานอาชีพปลูกสับปะรดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่  เขาได้พัฒนาสายพันธุ์สับปะรดใหม่ชื่อ “หอมเขลางค์” หรือ BL1 เป็นสายพันธุ์ที่มีความหอม หวาน มีกรดที่พอเหมาะ ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ ผสมพันธุ์ระหว่างสับปะรดพันธุ์น้ำหรือพันธุ์ปัตตาเวียกับสายพันธุ์ควีน  สายพันธุ์แห้ง โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา  ซึ่งพันธุ์นี้เหมาะกับสภาพอากาศของจ.ลำปาง ที่มีอากาศร้อนมากในช่วงฤดูร้อน

           ถ้าไปลำปางลองไปพิสูจน์สับปะรดพันธุ์ “หอมเขลางค์” ว่าหอมหวานตามที่เจ้าของพันธุ์สาธยายไว้หรือไม่.