“ BigStream” ตัวช่วยบริหารจัดการข้อมูลแบบเรียลไทม์

เวทีวิจัย

ปัจจุบัน “ข้อมูล” หรือ  “Data” ถือเป็นทรัพย์สินที่ล้ำค่า  ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ การให้บริการต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยข้อมูลเพื่อการพัฒนาทั้งสิ้น

               การจะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันมีข้อมูลมหาศาลเกิดขึ้นในแต่ละเสี้ยววินาทีจากกิจกรรมในโลกออนไลน์ และที่สำคัญข้อมูลเหล่านั้นมีความหลากหลายทั้งในแง่ของฐานข้อมูล แอปพลิเคชัน มาตรฐาน ผู้ผลิต หรือผู้ใช้งาน  จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบครันทั้งปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานต่อไป

               ซึ่งการจัดการข้อมูลที่สะดวกที่สุด คือ การแปลงข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตามการจัดการดังกล่าวมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบมีการพัฒนามากขึ้น การมองหาแหล่งเก็บข้อมูลที่เหมาะสมก็เป็นด่านสำคัญที่ต้องเลือกและลงทุนเพื่อรักษาประสิทธิภาพของระบบ

                เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาในเรื่องข้อมูลอย่างครบวงจร  ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   จึงพัฒนา “BigStream” แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การบูรณาการข้อมูลเป็นเรื่องง่ายด้วยการผนวกรวม 3 กระบวนการสำคัญด้านการทำงานกับข้อมูล ได้แก่  “ จัดหา จัดการ และจัดเก็บข้อมูล” ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว

                “คำรณ อรุณเรื่อ”   ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (DSS) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG)  เนคเทค -สวทช.    บอกว่า โจทย์ด้านแอปพลิเคชันที่หลากหลายของเนคเทค มักมีปัญหาเรื่องข้อมูล ตั้งแต่การจัดการข้อมูลรวมไปถึงการบูรณาการ คือ เมื่อขึ้นระบบใหม่ก็ต้องทำใหม่อยู่ตลอดทั้งที่โจทย์คล้ายกัน ซึ่งส่วนนี้ใช้ต้นทุนสูง จึงมีแนวคิดจะทำ Data Platfrom ที่รับผิดชอบจัดการในระดับข้อมูลเพื่อให้ผู้พัฒนาไปโฟกัสในเรื่องที่สำคัญ เช่น User Interface, Data Analytics ช่วยลดเวลาและต้นทุนในการพัฒนาระบบจึงเป็นที่มาและความจำเป็นของแพลตฟอร์ม  “ BigStream”  

                โดย  “BigStream” จะแพลตฟอร์มสําหรับการจัดการข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real time data platform) ที่โดดเด่นด้วยความสมาร์m สามารถประยุกต์ในงานด้าน Big Data จากแหล่งข้อมูลหลากหลาย ทั้ง Open Data และ Internet of Things ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                “นอกเหนือจากความสมาร์ท อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ BigStream คือ ความยืดหยุ่น (scalability) ด้วย BigStream ไม่ใช่ระบบสำเร็จรูป แต่พร้อมใช้งาน พร้อมที่จะนำไปปรับและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในงานหลากหลายประเภท  ซึ่ง สามารถติดตั้งใช้งานได้ตั้งแต่อุปกรณ์หรือประมวลผลขนาดเล็ก ที่ใช้ทรัพยากรต่ำ ทำงานเร็ว และประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการประมวลผลขนาดใหญ่ เช่น คลาวด์หรือคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ดังนั้น BigStream สามารถต่อยอดหรือขยายผลได้ทุกระบบในทุกระดับโดยไม่จำกัดเรื่องขนาดของข้อมูล”  

                สำหรับก้าวต่อไปของ  “BigStream”  ทีมวิจัยบอกว่า  จะเน้นส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์และบริการบนเทคโนโลยีที่แต่ละภาคธุรกิจเชี่ยวชาญ และสร้างเป็น Ecosystem ที่นอกจากจะนำ BigStream ไปใช้แล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย

                “ ด้วยความยืดหยุ่นของ BigStream ที่มี plug-in หรือซอฟต์แวร์สามารถติดตั้งเสริมให้เข้ากับอุปกรณ์ต่างยี่ห้อต่างชนิดกัน สามารถนำไปต่อยอดในเรื่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ในกลุ่มของนักพัฒนา เยาวชน หรือเมกเกอร์ BigStream ก็ถ่ายทอดให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น” คุณคำรณ กล่าว

                 อย่างไรก็ดี   ปัจจุบัน BigStream ได้มีการลงสนามใช้จริงแล้วผ่านงานวิจัยเนคเทค เป็นจำนวนมาก  เช่น “ทันระบาด” หรือ ชุดซอฟต์แวร์สนับสนุนการป้องกันและควบคุมการระบาดไข้เลือดออกเชิงรุก หรือ “KidBright” บอร์ดสมองกลฝังตัวในโครงการอุตุน้อย ที่มี BigStream อยู่เบื้องหลังในการบูรณาการข้อมูลจากสถานีวัดอากาศที่ติดตั้ง ณ โรงเรียนต่าง ๆ

                นอกจากนี้ BigStream ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบ DDC-Care หรือ ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่สร้างขึ้นอย่างเร่งด่วนสำหรับสถานการณ์วิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะ

                และยังมีการต่อยอดใช้งานโดยภาคเอกชน  ซึ่งเนคเทคได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (lisence) ให้กับภาคเอกชนไปขยายผลต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์บนเทคโนโลยีที่ตนเองเชี่ยวชาญอีกด้วย.