รองนายกฯ ดอน เปิดงาน “มหกรรมวิทย์ 65”

News Update

รองนายกฯ  เปิดงานมหกรรมวิทย์  2565 อย่างเป็นทางการ  ชี้ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21   ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ  ด้าน “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. ย้ำงานปีนี้ เน้นนำเสนอวิทย์ผสานศิลป์  ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สอดรับกับนโยบาย “BCG Model” ของรัฐบาล

           วันนี้ (14 สิงหาคม 2565 ) ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565”  ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.  ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ  

           นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งในหลายมุมโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ทางพลังงาน และทางสาธารณสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง  โลกใบนี้ต้องการความสมานฉันท์ ความร่วมมือ และสันติสุข เพื่อให้เรามีเวลาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถใช้มันสมอง สองมือ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง ลดผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ ทำให้เราตระหนักชัดเจนถึงผลเสียที่เกิดจากการพัฒนาที่เน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกำไรใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินความพอดี ทำให้เกิดความไร้สมดุลของทุกสิ่ง โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในการพัฒนาประเทศเราจำเป็นที่จะต้องเน้นการเสริมสร้างทัศนคติ ปรับเปลี่ยนชุดความคิดของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ชุมชน และเยาวชน ให้ตระหนักถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

           งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปีนี้ นับเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ในโอกาสนี้ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศที่รวมพลังในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมไทย อันจะก่อให้เกิดสังคมวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยของเราเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป และขอแสดงความยินดีกับเยาวชน และครูวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award 2022 ซึ่งถือเป็นรางวัลที่แสดงถึงผลงานชั้นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนอื่นๆ ให้มุ่งมั่น พัฒนาฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์  สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป 

           ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 กำหนดจัดขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดขึ้น ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 และงาน NST Fair Science Carnival Bangkok ในรูปแบบ Science Carnival จัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565  เพื่อให้เข้าถึงและครอบคลุมเยาวชนและประชาชนที่สนใจเป็นวงกว้าง โดยมีแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์มาสู่เมือง เพื่อเป็นการกระจายความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มคนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือทำให้คนไทยให้หันมาสนใจ ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และจับต้องได้ โดยเน้นนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อนพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ สอดรับกับนโยบาย “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมผนึกกำลังความยิ่งใหญ่กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและประชาชนไทย มากถึง 136 หน่วยงาน จาก 10 ประเทศ

             “ตลอดระยะเวลาการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 16 ปี ที่ผ่านมา มีผู้เข้าเที่ยวชมงานมากกว่า 15 ล้านคน โดยมุ่งหวังว่าเด็ก เยาวชนไทย ตลอดจนสังคมไทยจะยกระดับความรู้ และได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป”

           ทั้งนี้ในงานมีการนำเสนอ  5 นิทรรศการไฮไลต์ที่ห้ามพลาดคือ นิทรรศการเทิดเกียรติ (The Royal Pavilion) นำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์    นิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก (Through the Looking Glass) บอกเล่าเรื่อง “แก้ว” ในทุกมิติทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน   นิทรรศการลอดช่อง ส่องถ้ำ (Cave and Karst) ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก  นิทรรศการวิทย์ คิด เพื่อ คุณ (Basic Science for All) ชวนทุกคนเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นฐานธรรมชาติเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่ต่อยอดสู่นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และนิทรรศการนวัตกรรมวันรุ่ง (Tomorrow Land) สนุกสนานไปกับการสร้างโลกแห่งอนาคตในแบบฉบับของตัวเอง

           นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Science Lab) ที่ให้เด็ก ๆ สวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย กิจกรรมงานประชุมสัมมนา อบรม และเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ  รวมถึงการนำเสนอผลงานและกิจกรรมต่าง ๆ จากหน่วยงานในกระทรวง อว. และพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

           เช่น  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำเสนอองค์ความรู้ เกี่ยวกับไม้มีค่า ทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจของประเทศไทย และการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ครบวงจร  ภายใต้แนวคิด  TISTR : The Wonders of Microbe World  มหัศจรรย์โลกจุลินทรีย์ วว.   

           สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.   พาไปรู้จัก “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ พร้อมสัมผัสบรรยากาศดูดาวเสมือนจริงในท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ใจกลางอิมแพ็ค  และสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชวนน้องๆ สํารวจสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ผ่าน Application และกิจกรรม PARA Dough  

           ขณะที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์  เปิดห้องแห่งการเรียนรู้ “ชีวิต เเละ วิทยาศาสตร์ กับการอยู่ร่วมกัน”    และโชว์ไฮไลต์นวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ตรวจคัดกรอง COVID-19 ด้วยลมหายใจ  เครื่องไบโอพลาสมากับระบบแพทย์ทางไกล  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. นำเสนอ  “เทคโนโลยีนิวเคลียร์กับงานโบราณคดี”   ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์ในการตรวจวิเคราะห์หาอายุของโบราณวัตถุ  วิเคราะห์หาองค์ประกอบของธาตุ และใช้ในการอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่าง ๆ   และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เน้นกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจ พร้อมสนุกสนานเรียนรู้เรื่องรังสี

           ส่วนกรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือ วศ. นำเสนอ “D–Sci Silpa(DSS) : ศาสตร์ศิลป์ สี”  ให้เยาวชนเรียนรู้ศาสตร์และศิลปะของสี โดยมีข้อมูลองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการใช้สีและสีธรรมชาติ พร้อมทั้งนําผลงานวิจัยของ วศ. มาเป็นสื่อหลักในการ คิด วิเคราะห์ถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่อนิทรรศการ กิจกรรมและการทดลอง  สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  หรือจิสด้า นำเสนอ  นิทรรศการ  THEOS-2  กับเป้าหมายพัฒนาคน สู่ประเทศชาติ และอวกาศที่จับต้องได้  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)   หรือ สซ. นำเสนอ  “ซินโครตรอนแลนด์แดนมหัศจรรย์” พาเยาวชนไปรู้จักกับแสงซินโครตรอน และเครื่องกําเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ 

           สำหรับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้า (องค์การมหาชน)  หรือ สสน. นำเสนอการบริหารจัดการนํ้าโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการส่งเสริมการบริหารจัดการนํ้าในพื้นที่ชุมชม และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) นำเสนอผลงานการพัฒนาการวิจัยชั้นแนวหน้า   เรื่อง Quantum Technology ในสาขามาตรวิทยาและการวัดเชิงควอนตัม   ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สําคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเวลาและ ความถี่ของประเทศไทย และในสาขาการวัดอื่นๆ ต่อไป

           ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook: NSTFair Thailand (www.facebook.com/nstfairTH)