ชวนชม “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” ราชาแห่งฝนดาวตก คืน 17-18 พ.ย.63 นี้

News Update

สดร. ชวนชม “ฝนดาวตกลีโอนิดส์ – ราชาแห่งฝนดาวตก” หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย. 63 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. 63 อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 15 ดวงต่อชั่วโมง ช่วงดังกล่าวปราศจากแสงจันทร์รบกวน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสิงโต แนะชมในที่มืดสนิทจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

         นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์  หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต” เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6 – 30 พฤศจิกายน ของทุกปี  สำหรับปีนี้จะสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ในคืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน สามารถชมได้ตลอดทั้งคืน อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 10-15 ดวงต่อชั่วโมง เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด ผู้สนใจสามารถรอชมความสวยงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้ในคืนดังกล่าว

         ทั้งนี้ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก ด้วยความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”

         สำหรับ สถานที่ชมฝนดาวตกควรเป็นสถานที่ที่มืดไม่มีแสงไฟรบกวนหรือห่างจากเมือง ควรใช้เวลาปรับสายตาในที่มืด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สายตาคุ้นเคยกับความมืด แนะนำให้นอนรอชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า สำหรับการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่สามารถระบุทิศทางได้ ต้องอาศัยการคาดเดาและเปิดหน้ากล้องค้างไว้ให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง ผู้สนใจสามารถเตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาดังกล่าว