YMID ผนึก 6 องค์กรลงนามฯร่วมพัฒนาระบบจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี

News Update

เครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี(YMID) จัดพิธี “การลงนามบันทึกความร่วมมือคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Joint IRB YMID : Multicenter Medical Innovation Clinical Trial)” เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ชั้น M สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โดยผนึกพลัง 6 องค์กร กรมการแพทย์, กรมแพทย์ทหารบก, มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามร่วมกันภายในเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี มุ่งสร้างต้นแบบเครือข่ายความร่วมมือเพื่อนวัตกรรมการแพทย์ของประเทศ

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

         นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี กล่าวว่า พื้นที่่บริเวณถนนโยธี ราชวิถี พญาไท พระรามหก และ ศรีอยุธยา มีโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน เกือบ 20 แห่ง ซึ่งมีขีดความสามารถสูงมากในการให้บริการสุขภาพระดับสูง และการวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ การรวมพลังทางสังคมและปัญญาขององค์กรเหล่านี้ จะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถและนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีโอกาสในการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมด้านนี้ด้วย รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาย่านนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และนวัตกรรมทางการแพทย์ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 2 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข  โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้านด้วยกัน คือ 1. การพัฒนานโยบายแนวทางการสนับสนุน การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรมภายในย่านให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง 2. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการย่านเพื่อให้เกิดกลไก การเชื่อมโยง และระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการลงทุนและการให้บริการด้านการแพทย์ภายในย่าน  3. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาวิจัยและปรับปรุงการบริการภายในย่าน และ 4. การพัฒนาพื้นที่ให้มีความสะดวกและเหมาะสมต่อการลงทุน และการบริการด้านการแพทย์ภายในย่าน

         “การวิจัยทางคลินิก” เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่านวัตกรรมนั้นได้ผลและปลอดภัยเพื่อความรวดเร็วและมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล การวิจัยทางคลินิกจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันเป็นสหสถาบัน ซึ่งย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากทุกองค์กรในย่านมีระบบการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่แตกต่างกัน ทำให้การรับรองโครงการวิจัยสหสถาบัน เกิดความล่าช้าติดขัดไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรฐานระดับสากล ดั้งนั้น คณะกรรมการย่านฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้พัฒนากลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภายในย่าน ทั้งในเรื่องการวิจัยทางคลินิกสหสถาบัน และการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบัน และได้ดำเนินพัฒนาระบบจนแล้วเสร็จ พร้อมทดลองใช้ในการทำงานร่วมกันได้แล้ว จึงจัดพิธี “การลงนามบันทึกความร่วมมือคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Joint IRB YMID : Multicenter Medical Innovation Clinical Trial)” ในวันนี้ ณ ห้องประชุมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พิธีลงนามฯ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วย 6 องค์กรที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมการแพทย์, กรมแพทย์ทหารบก, มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  

          ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณะการศึกษาอยู่ภายในย่านฯ ประมาณ 6 คณะ ซึ่งมีหน่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลโรคเขตร้อน และสถานบริการคณะทันตแพทย์ เรามีงานวิจัยทางคลินิกเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์จำนวนมาก หากมีการปลดล็อกด้านการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จะทำให้การทำงานในลักษณะสหสถาบันเป็นไปได้โดยง่าย ทุกองค์กรของมหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมในการสนับสนุนและผลักดัน กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวให้เกิดผลและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มที่

         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการมีพันธกิจในการสร้าง ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่สมคุณค่า เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ในทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล ซึ่งกรมการแพทย์มีหน่วยงานภายใต้สังกัดที่อยู่ภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีหลาย 7 หน่วยงานได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ได้ดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการแพทย์อย่างต่อเนื่อง การปลดล็อก กระบวนการพิจารณาจริยธรรมฯ ร่วมกันของหน่วยงานในย่านถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกรมการแพทย์ และหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งจะเป็นการผนึกกำลัง เพิ่มศักยภาพ และความเข้มแข็งภายในย่านฯ ที่จะช่วยผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กรมการแพทย์จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อขจัดอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นให้หมดไปให้ได้

         พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล กรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า ความร่วมมือคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นก้าวแรกของการทำงานข้ามหน่วยงานและสถาบันอย่างแท้จริง และในฐานะที่ กรมแพทย์ทหารบก สังกัดกองทัพบก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ภายในย่านฯ และมีการพัฒนางานนวัตกรรมและวิจัยทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอนั้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากเราสามารถขยายงานวิจัยทางคลินิกไปยังสถาบันอื่นๆ ภายในย่านฯ และนอกจากนี้ภายในย่านฯ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทำการวิจัยและไม่มีคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ก็จะสามารถมาใช้ประโยชน์จากการดำเนินงานในครั้งนี้ด้วย

          ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีนี้ ถือเป็นหนึ่งในงานสำคัญของการดำเนินงานในรูปแบบ YMID Platform ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในย่านฯ เป็นอย่างดี และมีรูปแบบการทำงานที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านการพัฒนานโยบายแนวทางการสนับสนุน การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรมภายในย่านให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงาน บุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยภายในย่าน ให้สามารถยื่นขอพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือในคนได้รวดเร็วอย่างมีมาตรฐาน และฐานะที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นหนึ่งในหน่วยความร่วมมือ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานดังกล่าวนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ส่งเสริมให้เกิดผลงานวิจัยภายในย่านสามรถพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือไปสู่ระดับประเทศได้

          ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวว่า สนช. พร้อมสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการดำเนินการพัฒนาการวิจัยภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อให้มีศักยภาพในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา DeepTech ทางด้านชีวการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงานพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 5 ปีแรก จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับมาตรการและนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ระยะ 10 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกายภาพให้กับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและทดลองนวัตกรรม การสร้างโครงข่ายสัญจรเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในพื้นที่อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และระยะ 20 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกายภาพรองรับและสนับสนุน”

         นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล กล่าวว่า เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวภายในเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เรามีการจัดตั้ง Center of Private Research and Innovation Accelerator (CPRIA) ซึ่งมีภารกิจหลัก ในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ กระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในทุกๆกระบวนการของการดำเนินการของโรงพยาบาล เพื่อให้ขั้นตอนของการวิจัยเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน เราจึงจัดตั้ง IRB ของเครือโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโล ขึ้นด้วย การเข้าร่วมเครือข่ายและจัดทำโครงการ Joint IRB YMID นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ของในเครือที่จะสามารถขยายการทำงาน และเร่งการพัฒนางานที่ดีร่วมกับหน่วยงานภายในย่านต่อไป และหวังว่า Joint IRB YMID Model จะสามารถขยายผลและก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการพัฒนางานนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศต่อไป