“รมว.ดีอีเอส” ย้ำไทยพร้อมก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

i & Tech

“พุทธิพงษ์” ย้ำ ไทยพร้อมก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล หลังรัฐเปิดคลาวด์กลางเชื่อมข้อมูลและกุม 5G ไว้แล้วก่อนเริ่มใช้จริงปีหน้า พร้อมหนุนหลักสูตร Digital CEO ต่อยอดภาคธุรกิจดิจิทัลไทย

              นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานงานนำเสนอผลงานผู้อบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO) รุ่นที่ 3 และมอบสัมฤทธิบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สรนิต  ศิลธรรม  รองปลัดกระทรวงแรงงาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน  เข้าร่วมอบรมหลักสูตรฯ

              นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า  ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีของโลกได้เปลี่ยนไป เราต้องก้าวตามให้ทัน  โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้กระทรวงดีอีเอส  พัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราเปิดกว้างให้คนหันมาใช้ดิจิทัล ในการทำงานมากขึ้นทั้งการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ใช้ในการสั่งซื้อของและเรื่องต่าง ๆ

              ทั้งนี้ก้าวแรกที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัลได้นั้น จะต้องมีฐานข้อมูลเป็นของตัวเองและล่าสุดไทยได้มีคลาวด์กลางของภาครัฐ หรือ Government Data Center and Cloud Service  (GDCC) แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลของทุกกระทรวงหน่วยงานของภาครัฐมาไว้ที่เดียวกัน  เพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ช่วยลดขั้นตอน ลดการใช้เอกสารจำนวนมาก ๆ ในการติดต่อราชการของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ทุกระบบของหน่วยงานราชการจะต้องเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด และรัฐต้องมีข้อมูลของประชาชนไว้เพื่อออกนโยบายมาดูแลคนได้อย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน   การมีคลาวด์กลางของภาครัฐนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากในการลดการใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวงในการเช่าพื้นที่คลาวด์เก็บข้อมูลซึ่งราคาการเช่ากับบริษัทภายนอกนั้นมีราคาสูงมาก

              นอกจากนี้ในเรื่อง 5G รัฐบาลไทยเป็นประเทศแรกๆในภูมิภาคอาเซียน ที่ให้หน่วยงานของภาครัฐเข้าประมูลคลื่น 5G เพื่อนำมาบริหารการใช้งานในภาคส่วนต่างๆ  แทนที่จะไปเช่าเอกชน   ซึ่งภายในไม่เกิน 2เดือนนี้ ทุกคนจะได้ใช้5G ที่ไม่ใช่แค่ผ่านมือถือเท่านั้น แต่ยังใช้ประโยชน์ในการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้กับภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

              นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องแข่งกับต่างประเทศโดยใช้ดิจิทัลมาช่วย เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก การแข่งขันจะแข่งกันวันต่อวัน ซึ่งวางแผนเป็นปีจะไม่ทันแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนไปเยอะแล้ว จึงอยากให้ภาคเอกชนได้ใช้ทรัพยากรที่ภาครัฐลงทุนไปให้คุ้มกับภาษีที่ภาคเอกชนได้เสียไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อประเทศของเรา

              ขณะที่ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า  แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ที่สะท้อนว่าประเทศไทยมีการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และกำลังก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง และปัจจัยหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ คือ การพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล  ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำองค์กรในยุคดิจิทัล ทั้งภาครัฐภาคเอกชน จะต้องเท่าทันและพร้อมรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้ การบริการจัดการองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ

              สำหรับหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO) ที่ดีป้า ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 3 มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรในทุกมิติ เน้นต่อยอดองค์ความรู้ การบริการจัดการและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารภาครัฐและเอกชนที่เป็นเครือข่ายอันเข้มแข็งในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

              ทั้งนี้ในหลักสูตร มีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมอบรมจำนวน 83 ท่าน ได้ร่วมกันเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านการบรรยาย กรณีศึกษา ตลอดจนการศึกษาดูงานเพื่อถอดบทเรียนจากองค์กรชั้นนำ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 100 ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าอบรมด้วย เพื่อต่อยอดเป็นโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาสังคมในลำดับต่อไป