จุฬาหนุน “ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์” ขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสังคม

News Update

จุฬา โชว์ผลงานจากซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ นับเป็นก้าวแรกสู่การบุกเบิกงานวิจัยสู่สังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน

              ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “นวัตกรรมจุฬาฯ เพื่อสังคม” ในงาน “ก้าวเล็ก… ฝันใหญ่ … Go Phar Together สู่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม”  ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อเร็ว  ๆ นี้ ว่า  จุฬาฯ มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำการสร้างสรรค์องค์ความรู้  และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้านคือ การสร้างผู้นำแห่งอนาคต ให้การสนับสนุนคณาจารย์ นักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบสูงต่อสังคม และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งจุฬาฯ ได้จัดตั้งบริษัท ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) ที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพของจุฬาฯ จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) ในการสร้างนวัตกรและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมไทยเป็นที่ประจักษ์

               ทั้งนี้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจุฬาฯ โดยคณาจารย์นักวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก CUPE ถือเป็นก้าวแรกของการบุกเบิกงานวิจัยสู่สังคม แสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัยที่อยู่บนหิ้งมาสู่ห้างให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเชื่อมโยงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “ไฟท์ฝุ่น” จากบริษัทเฮิร์บ  การ์เดียน จำกัด สเปรย์ฉีดหน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19 จากบริษัท แนบโซลูท จำกัด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีของคนไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งปลายน้ำ ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงิน 500 บาทสำหรับใช้ในการพัฒนาวัคซีน      โดยคนไทยเพื่อคนไทย เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป                

              ดร.ภญ.บุษกร   เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวถึงบทบาทของ CUPE ในการสนับสนุนและบ่มเพาะงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของสังคม นอกเหนือจากงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านสุขภาพที่พัฒนาโดยคณาจารย์ นักวิจัย จากสามบริษัทสตาร์ทอัพในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ยังมีงานทางด้านบริการวิชาการภายใต้ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม ที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและการตรวจวิเคราะห์เซลล์สัตว์ทดลอง นอกจากนี้ CUPE ยังให้โอกาสในการสร้างงานแก่นิสิตที่จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ให้ได้ปฏิบัติงานจริงร่วมกับคณาจารย์ในบริษัทสตาร์ทอัพอีกด้วย

              ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานของ CU Pharmacy Enterprise ได้ที่

https://www.facebook.com/CU-Pharmacy-Enterprise-112605300516747/