“TTSA Reunion” รุกปั้นอีโคซิสเต็ม อัพสปีด “เทคสตาร์ทอัพ”

Inno Market

สมาคม Thailand Tech Startup Association(TTSA) จัดงาน ” TTSA Reunion ปิดบ้านคุย” รวมพลคนสตาร์ทอัพฉายภาพวิสัยทัศน์ จากสตาร์ทอัพแนวหน้าของเมืองไทย มุ่งเสริมประสบการณ์ ชี้ช่องโอกาส สร้างความรู้ความเข้าใจ บนเส้นทางธุรกิจแก่บรรดาเทคสตาร์ทอัพ พร้อมกรุยทางสู่การเติบโต หวังเป็นกำลังสำคัญหนุน “อีโคซิสเต็ม” ยกระดับ “สตาร์ทอัพไทย” ก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด นายกสมาคม TTSA กล่าวว่า สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ Thailand Tech Startup Association ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ 1.สร้างคอมมูนิตี้ให้เป็นปึกแผ่น เและความเป็นหนึ่งเดียวของผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ (founders)  ผ่านการเชื่อมโยง ร่วมมือ และ ประสานงาน เพื่อความเป็นเอกภาพของคอมมูนิตี้ 2.การเป็นกระบอกเสียง เพื่อต่อยอดสู่การปรับปรุงคุณภาพคอมมูนิตี้สตาร์ทอัพ เชื่อมโยง และ ประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อเสนอแนะจากบรรดาสตาร์ทอัพไปสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับภาครัฐ

              คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ในฐานะอุปนายกของสมาคมฯ กล่าวว่า วงการสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็มไทย เริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2556 ในช่วงเวลานั้นที่เริ่มมีโคเวิร์กกิ้งสเปซเกิดขึ้น ซึ่งคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพไม่ได้เติบโตเยอะมาก แต่กลับมีพลังในการผลักดันร่วมกัน จากการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน แต่กระนั้นในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าพลัง เหล่านี้ค่อนข้างแผ่วลง ยิ่งเมื่อประสบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่าง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งเสมือนแรงฉุด ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าถึงเวลาที่จะต้องร่วมกันสร้าง “อีโคซิสเต็ม” เพื่อยกระดับวงการสตาร์ทอัพไทยให้กลับมามี ‘พลัง’ อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อประโยชน์ต่อสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง  

              “สตาร์ทอัพ จะเติบโตได้ดีจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ประสบการณ์” ทั้งจากที่ตนเองพบเจอ และจากผู้ที่คว่ำหวอดในวงการ ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จคือการเรียนรู้กับ case study ต่างๆ”

              ด้านคุณอุกฤษ อุณหเลขกะ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult กล่าวว่า จากประสบการณ์ในแวดวงสตาร์ทอัพมีมุมมองที่อยากจะถ่ายทอดถึงคนที่กำลัง (จะ) ทำสตาร์ทอัพว่า สิ่งจำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้นั้น คือ 1.ประสิทธิภาพของทีม 2.ศักยภาพที่จะสามารถขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ 3.ข้อมูลและเอกสารที่บ่งบอกถึงรายละเอียดชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ 4.การเลือกนักลงทุน

              ขณะเดียวกัน คุณอุกฤษ ยังบอกถึง ทริคสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ 1.พยายามให้ความสำคัญกับงานอีเว้นท์ เพื่อใช้เป็นโอกาสในการโปรโมทบริษัท เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพ ประสบความสำเร็จได้ก็คือ “เครือข่าย” และ “การสร้างสายสัมพันธ์” กับคนอื่น และ 2.การมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ผ่านการบรรยาย หรือ งานเสวนาต่างๆ

              ทางด้านคุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง เฟรซเก็ต (Freshket) กล่าวว่า จากการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพพบว่า “เงินทุน” เป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องมีการวางแผนเพื่อสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน ทั้งภายใน และภายนอก เพื่อนำมาขับเคลื่อน พัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจที่วางไว้

              ทั้งนี้เส้นทางการวางไทม์ไลน์ที่ดีของสตาร์ทอัพก่อนระดมทุนคือ 1.เริ่มจากการที่จะต้องวางแผนก่อนว่าต้องการที่จะร่วมกับ ธุรกิจกับใคร และประเภทใด 2.บัญชีและเอกสารด้านการเงิน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนในเรื่องนี้ตั้งแต่เบื้องต้น 

              คุณไผท ผดุงถิ่น CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง BUILK ONE GROUP เปิดเผยว่า มุมมอง BUILK คิดว่าสตาร์ทอัพไทยต้องมีสตอรี่หรือเรื่องราวที่หลากหลาย สามารถไปได้อีกหลายๆ ภาพ และในช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมถึงมีผลต่อเรื่องการลดการลงทุน ดังนั้นสตาร์ทอัพต้องตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสื่อสารกับนักลงทุน รวมถึงมีมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การทำธุรกิจสตาร์ทอัพก็เหมือนกับการทำธุรกิจประเภทอื่นๆ คือ ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ปรับขนาดธุรกิจให้มีความเหมาะสม รวมถึงควบคุมต้นทุนที่เกิดขึ้น

             ส่วนคุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta Wealth เปิดเผยว่า ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพจะต้องมีการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างเป็นระบบ โดยสตาร์ทอัพจะต้องคำนึงถึงรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ และเมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงจุดหนึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับแผนธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องมีการมองภาพล่วงหน้าว่าหาก ‘เฮดจ์ฟันด์’ ไม่ได้ จะทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งอาจเสริมด้วย event หรือวิธีที่จะเสาะแสวงหาแหล่งเงินทุนมาซัพพอร์ตธุรกิจ พร้อมทั้งจะต้องย้อนกลับมาดูในส่วนของโปรดักท์ที่มีว่า “ดีพอหรือไม่” หากยังไม่พอจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง อีกทั้งต้องมองหาจุดเด่นในธุรกิจว่าสิ่งใดที่จะผลักดันสู่ธุรกิจดาวรุ่งใหม่ได้ และสามารถสปริงบอร์ดธุรกิจให้เติบโตได้มากขึ้น

              ดังนั้นสตาร์อัพต้องคิดหลายๆเซกเตอร์ พร้อมพยุงทีมให้ก้าวต่อไปได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ อีกทั้งดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งผู้ที่ลงทุน ทีมงาน และลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถรันต่อไปได้และก้าวสู่ความสำเร็จในอนาคต