อว.โชว์ผลงานเด่นปี 2563 ชูนวัตกรรมรับมือโควิดและเทคโนโลยีอวกาศ

Cover Story

อว.แถลงผลงานปี 2563 ชูวัคซีน –เทคโนโลยีอวกาศ ชี้ไทยทำได้ พร้อมมอบรางวัล11 ผลงานวิจัยเด่นด้านโควิด 19

           เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2563 ที่โรงแรมเรอเนสซองซ์  ราชประสงค์  กรุงเทพ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  จัดแถลงข่าวสรุปผลงาน เด่นปี 2563  พร้อมมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการรับมือวิกฤติโควิด-19   โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. เปิดเผยว่า   ปี 2563  ถือเป็นปีแห่งความสำเร็จของ อว. ด้วยการนำวิทยาการต่าง ๆ มาพัฒนาประเทศไทย  ซึ่งในปีนี้ กระทรวง อว.มีผลงานโดดเด่น ที่สำคัญ ที่ประเทศไทยสามารถคิดค้นและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้ถึง 2 ตัวได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ที่กำลังจะเริ่ม ทดลองในมนุษย์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบยาสูบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ จากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ซึ่งเป็นการแสดงพร้อมก้าวไปอีกขั้นในการผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 

           “อีกผลงานคือการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ  ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าไม่สามารถเป็นไปได้ แต่เด็กไทยเก่งกว่าที่หลายๆคนคิด  ปัจจุบันคนไทยสามารถสร้างดาวเทียมขนาด 1.5 – 5  กิโลกรัมขึ้นไปบนอวกาศได้  และกำลังพัฒนาไปสู่ดาวเทียมระดับ 50-100 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากนั้นจะมีดาวเทียมที่แปรสภาพเป็นยานอวกาศ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเพื่อเข้าถึงระบบโคจรรอบดวงจันทร์ภายในระยะเวลา 1 ปี  ซึ่งเรื่องนี้ย้ำว่า เป็นการขยายความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศ ไม่ใช่อยากไปดวงจันทร์  แต่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศ ที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง  ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยกำลังจะสร้างวิธีคิดใหม่ ว่าเราสามารถทำได้  ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์”     

           ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ตลอดปี 2563 อว.มีเรื่องเด่น 3-4 เรื่อง โดยได้มีการประสานหลอมรวมระหว่างอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา  อว.ได้มีการสนับสนุนการวิจัยด้านยา ชุดตรวจและวัคซีนรวมทั้งยังได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามให้กับศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

           ปลัด อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว.ยังมีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขจากโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในสังกัด อว.กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ในการทำงานร่วมกับสาธารณสุขทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์มาตั้งแต่การระบาดช่วงที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งในส่วนของบุคลากร เจ้าหน้าที่ แพทย์และพยาบาล อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมปฏิบัติหน้าที่รองรับผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ   สิ่งสำคัญคือมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ที่ทำให้เห็นว่าเราทำได้   

           ทั้งนี้งานวิจัยและนวัตกรรมด้านโควิดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานเด่นของกระทรวง อว.ในปี 2563 นี้ประกอบด้วย  การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคจากไวรัสโควิด-19 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ  ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ และพร้อมก้าวไปอีกขั้นในการผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย”

            ผลงาน “DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที  ซึ่งขณะนี้ระบบ DDC-Care ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการติดตามการกักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ที่ต้องกักตัวที่บ้าน   เช่นในกรณีท่าขี้เหล็ก   รวมถึงอยู่ระหว่างการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ในการนำระบบ DDC-Care ไปใช้กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวจากตลาดกุ้ง  นอกจากนี้ระบบ DDC-Care ยังได้ถูกใช้สำหรับการติดตามและเฝ้าระวัง กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ต้องกักตัวที่บ้าน เช่น คนขับรถบรรทุกที่รับส่งของจากชายแดน  

           ผลงาน“เครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์” นวัตกรรมฆ่าเชื้อในห้องและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 ผลงานของศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  และเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2564    โดยคณะผู้วิจัยได้ออกแบบและพัฒนาเครื่อง VQ20  เพื่อใช้ฆ่าเชื้อในสถานที่ต่าง ๆ เช่น รถพยาบาล   ห้องกักตัวผู้ป่วย  อาคารสำนักงาน   และเครื่อง VQ20+HP35   เพื่อฆ่าเชื้อบนเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์  ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องดังกล่าวแล้วที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และหากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายจะร่วมมือกับบริษัท Startup เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ เช่น เครื่องสำหรับฆ่าเชื้อในขวดนม จาน ชาม แก้วสำหรับบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือบ้านที่มีผู้ป่วย

           นวัตกรรมชุด PPE ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์   ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.)ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนในภาวะวิกฤติ สามารถผลิตใช้เองได้ในประเทศและมีมาตรฐานในระดับสากล

           ผลการศึกษาเบื้องต้น “มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤต COVID-19”  โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา   ได้้ดำเนิินการศึึกษาและจััดทำภาพอนาคตประเทศไทยหลัังเผชิิญวิิกฤตโควิิด-19 และข้้อเสนอแนะเชิิงนโยบายเพื่่อขัับเคลื่่อนประเทศหลัังสถานการณ์์คลี่่คลาย ผ่่านการปรัับตััวใน 4 ระยะคือ ควบคุม   คลี่คลาย    ฟื้นตัวและปรับตัว  และปรัับโครงสร้้างใหม่ 

           โครงการวิจัยชุดนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการป้องกัน ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาการติดเชื้อโควิด-19 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ทีเซล )   เช่น หน้ากากอนามัย WIN-Masks ที่ทำจากผ้าเคลือบสารนาโนป้องกันไวรัส สามารถซักได้ 30 ครั้ง ซึ่งได้ผลิตและแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 2 แสนชิ้นทั่วประเทศ  และ นวัตกรรม AI อัจฉริยะ สำหรับการวินิจฉัย วิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น  

           นอกจากนี้ยังมี โครงการ Science Delivery By ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ปรับกลยุทธ์ รับมือ  COVID-19 จากการปิดให้บริการทุกพิพิธภัณฑ์ชั่วคราวในช่วงมีนาคม 2563 และเปิดให้บริการในรูปแบบออนไลน์   เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชน โดยทุกคนสามารถ เข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสนุกสนานได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่า จะอยู่ที่ใดในโลก

           เครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine ช่วยลดความเสี่ยง ของการติดเชื้อโรคหรือไวรัส Covid -19    จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อ   ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน  สามารถทำงานได้รวดเร็ว  จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์     เครื่องฉายแสง UVC ที่มีชื่อเรียกว่า V-Free รุ่น SUV  จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชั่น จำกัด  และ  University Esports Championship  ที่สำนักงาน ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมมือกับบริษัท อินโฟเฟด จำกัด จัดขึ้นเพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษาที่สนใจในกีฬา eSports