วศ.-อว.จับมือเครือข่ายเร่งพัฒนาLabทดสอบชุด PAPR ในไทยช่วยรับมือโควิด-19

News Update

กรมวิทยาศาสตร์บริการจับมือเครือข่ายเร่งพัฒนาLab มาตรฐานรองรับการทดสอบชุด PAPR  ฝีมือผู้ประกอบการไทย หวังเพิ่มการผลิตชุดช่วยป้องกันความเสี่ยงให้บุคลากรการแพทย์ได้มากขึ้น

         ดร.กรธรรม  สถิรกุล  หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์และระบบอัตโนมัติ กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019   หรือโควิด -19   ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563   ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้ออย่าง ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง  หรือ PAPR    ที่ใช้ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ  จึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนหนึ่งได้พัฒนาชุด PAPR   ขึ้นเองในประเทศ  เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ตรวจและดูแลรักษาผู้ป่วยจากการระบาดของ โควิด-19 ได้ใช้ในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ

         ทั้งนี้ ที่ผ่านมา วศ.ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากผ้า ชุด PPE อย่างชุด surgical gown และ ชุด cover-all  ซึ่งในส่วนของชุด PAPR นั้น วศ. ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่างข้อกำหนดคุณลักษณะของ PAPR สำหรับใช้ทางการแพทย์ และได้มีการลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา  

         โดยในส่วนของการทดสอบมาตรฐานนั้น  วศ. ตระหนักถึงความต้องการทดสอบชุด PAPR  ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่   จึงอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาเครื่องมือทดสอบที่จำเป็นและจัดสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบชุด PPE รวมถึง PAPR ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในปีงบประมาณ 2564   ซึ่งเบื้องต้น  วศ.ได้ดำเนินการรวบรวมสรรพกำลังและทรัพยากรต่างๆ ทั้งจาก วศ. และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อจัดสร้างเครื่องมือและวิธีการทดสอบที่สามารถใช้ในการทดสอบ PAPR แบบ in-house method ได้ในเวลาจำกัดไปพลางก่อน

         “  วศ. และหน่วยงานความร่วมมือ ได้สร้างเครื่องมือและประยุกต์ใช้เครื่องมือขึ้นเองจากทรัพยากรที่มีอยู่ แม้ว่าเครื่องมือและวิธีการอาจจะไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนด แต่เป็นวิธีการใช้ห้องปฏิบัติที่มีอยู่เดิม ซึ่งสามารถทดสอบสมรรถนะการทำงานของ PAPR ได้จริง  โดย วศ. ร่วมกับ วชิรพยาบาล  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช   และ บริษัท Q&E  จำกัด  พัฒนาและทดลองทดสอบ PAPR พารามิเตอร์ในส่วนของการทดสอบการรั่วซึม (total inverse leakage)  เมื่อวันที่ 14 ม.ค. และ 18 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่าง PAPR เพื่อมาทำการทดลองและทดสอบ จากบริษัทแม่น้ำแมคคานิกา บริษัท ฮอนด้า ประเทศไทย  ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นชุด PAPR ที่คนไทยพัฒนาขึ้นนี้ พบว่ามีสมรรถนะในการกรอง และการกันการซึมเข้า (inverse leakage) ได้ตามเกณฑ์กำหนดเป็นอย่างดี”    

         อย่างไรก็ดี วศ.จะนำข้อมูลจากการทดลองทดสอบต่างๆ ไปปรับปรุงเครื่องมือให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น   และจะมีการสร้างเครื่องมือเพื่อทดสอบพารามิเตอร์อื่นๆ เพิ่มเติม   ซึ่งขณะนี้ วศ. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้รับการ  recognized lab จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อพร้อมให้บริการทดสอบได้อย่างเป็นทางการ  รวมทั้งได้ดำเนินการทดสอบ EMC กับศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  (PTEC -สวทช.) เพื่อให้การทดสอบชุด PAPR  ได้พารามิเตอร์ที่ครบสมบูรณ์ต่อไป   ทั้งนี้แม้ว่าอนาคตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย  การทดสอบดังกล่าวก็ยังสามารถใช้ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออื่น ๆ รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง  PM 2.5 ได้อีกด้วย.