เนคเทคชวนระดมทุนผลิต“ ZpecSen” อุปกรณ์เรียนวิทย์ให้โรงเรียนที่ขาดแคลน

News Update

เนคเทค-สวทช. ชวนระดมทุนร่วมสนับสนุนการพัฒนา “ ZpecSenสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ราคาประหยัด ตัวเลือกในการเสริมสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจในด้านแสงและสเปคตรัมให้แก่นักเรียนทั่วประเทศ

            ดร.กฤศ  พิจยเวทินท์  นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG)   ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)  กล่าวถึงการพัฒนา ZpecSen หรือ เครื่องสเปกโตรมิเตอร์แบบพกพา ว่า เนื่องจากตนและทีมวิจัย  มีความถนัดและเชี่ยวชาญด้านการสร้างเครื่องมือที่สามารถวัดสัญญาณเชิงแสงหรือสัญญาณภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ  และด้วยความถนัดดังกล่าว ทำให้เห็นถึงปัญหาว่าอุปกรณ์สเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (Spectrophotometer) ที่ใช้วัดสัญญาณเชิงแสงในรูปแบบสเปกตรัม สำหรับบ่งชี้ปริมาณหรือลักษณะเฉพาะของวัตถุและสสารนั้นมีราคาสูงและขนาดใหญ่ จึงจำกัดการใช้งานเฉพาะในห้องปฏิบัติงานเท่านั้น แม้ในท้องตลาดมีการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวแบบพกพา แต่มีราคาสูง

           ทีมวิจัยจึงพัฒนา “ZpecSen” อุปกรณ์สเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบพกพาขึ้น  ในราคาที่เข้าถึงได้ โดยใช้ความสามารถของสมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ ฯ เพื่อให้ติดตั้งใช้ง่ายได้ง่าย และสะดวก   สามารถตรวจวัดคุณสมบัติเชิงแสงวัสดุ ในรูปแบบที่เรียกว่าสเปกตรัม ไม่ว่าจะเป็นวัสดุของแข็งหรือของเหลว หรือการตรวจวัดแหล่งกำเนิดแสงชนิดต่าง ๆ และมาพร้อมกับแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย ทั้งใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณสารเคมีหรือสารชีวภาพแบบพกพา ใช้แทนเครื่องมือพื้นฐานในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีราคาสูง มีขนาดใหญ่ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้  รวมถึงใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้

           อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสามารถหลากหลายของเครื่องสเปกโตรมิเตอร์นั้น ทีมวิจัยได้กำหนดเป้าหมายแรกในการพัฒนา ZpecSen ให้เป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องแสงและสเปกตรัม

           “ทีมของเราเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนของนักเรียนในประเทศไทย จากปัญหาเรื่องราคาของสื่อการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ บทเรียนบางหัวข้อจะจำกัดแค่ในตำราเรียน เราเชื่อว่าเด็ก ๆ แต่ละคนมีความถนัดในการเรียนรู้ของตัวเอง เราจึงอยากสร้างทางเลือกในการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง โดยการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางด้านแสงได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น” ดร.กฤศ กล่าว

           ทั้งนี้ “ZpecSen” สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องแสงและสเปกตรัม ซึ่งถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเนื้อหาในรายวิชาวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามจินตนาการของนักเรียนและเหมาะสมกับการสอนของผู้สอน ซึ่งจะเสริมสร้างประสบการณ์ กระบวนการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการสอนเพียงในแต่ตำราเรียน นอกจากนี้ผู้สอนยังสามารถนำ ZpecSen ไปใช้ทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกหลักสูตร หรือพัฒนารูปแบบการสอนแบบใหม่ เพื่อใช้เสริมความรู้และความเข้าใจในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับแสงให้แก่นักเรียนได้อีกด้วย

           อย่างไรก็ดีการผลักดันให้ “ZpecSen” เป็นสื่อการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับนักเรียนทั่วประเทศนั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมาก   กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG) เนคเทค-สวทช.จึงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสทางการเรียนรู้และจินตนาการเป็นของขวัญให้กับเด็กไทยไปพร้อมกับ ZpecSen ผ่านการสนับสนุนเงินทุนสำหรับผลิตอุปกรณ์ ZpecSen แจกจ่ายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ         

           โดยคณะทำงานจะจัดทำและแจกจ่ายเครื่อง “ZpecSen” ให้เป็นสื่อเรียนการสอนทางด้านแสง แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนเครื่องมือ โดยตั้งเป้าหมายการแจกจ่ายเครื่อง ZpecSen ที่จำนวน 60 เครื่อง ให้แก่ โรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ในจังหวัดภาคกลาง (ประมาณ 5 เครื่องต่อโรงเรียน) พร้อมกับการสอนการใช้งานที่ถูกต้อง และใบงานกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหารายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ปีที่ 5 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนหรือพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ให้กับครูหรืออาจารย์ต่อไป

           ผู้สนใจร่วมสนับสนุนการพัฒนา“ ZpecSen”  ได้ที่ https://taejai.com/th/d/zpecsen/ และดูรายละเอียด ZpecSen ที่  http://bit.ly/ZpecSen​​