อว.เปิดตัว“เมกกะแฮกกาธอน”ปั้น 400 ไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ

News Update

เอ็นไอเอ-อว.เดินหน้าเปิดตัวโครงการ “เมกกะแฮกกาธอน”  ปั้น 400 ไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หนุนขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน  

                เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ  (NIA)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ถนนโยธี กรุงเทพ ฯ  จัดแถลงข่าวเปิดตัว  Startup Thailand League 2021 “Mega Hackathon” หรือ เมกกะแฮกกาธอน   โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว.เป็นประธานในการแถลงข่าว  

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการเมกกะแฮกกาธอน และโครงการมองอนาคต (Foresight) เป็นโครงการที่   อว. ให้ความสำคัญและจะดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี  โดยเป็นแผนการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ก้าวทันโลก ทันเทคโนโลยีให้กับประเทศ  ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชน ได้ร่วมกันระดมความคิด ระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้การเรียนรู้ ค้นหาข้อมูล รวมถึงการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  มาเป็นตัวช่วยคิด สร้างงานและสร้างนวัตกรรมอย่างมีทิศทาง สอดคล้องกับแนวโน้มโลก ผ่านกิจกรรมสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ลีก ประจำปี 2564 ระหว่างเดือน ก.พ. – มิ.ย.นี้  ซึ่งจะจัดขึ้นในรูปแบบ “เมกกะแฮกกาธอน”  ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.ด้านเกษตรและอาหาร 2.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3.ด้านการเงินและการธนาคาร  4.ด้านอุตสาหกรรม 5.ด้านการท่องเที่ยว  6.ด้านไลฟ์สไตล์   7.ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  8.ด้านภาครัฐ/การศึกษา  และ 9.ด้านอสังหาริมทรัพย์  ทั้งนี้ตั้งเป้าสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในกลุ่มนิสิตนักศึกษา กว่า 8,000 คน เกิดไอเดียธุรกิจและการพัฒนาแผนงานธุรกิจ มากกว่า 400 ไอเดีย ภายในปีนี้

ทั้งนี้ เมกกะแฮกกาธอน  คือการให้เยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันระดมสมอง และมั่นใจว่าโครงการนี้จะสัมฤทธิ์ผลเพราะไม่เพียงช่วยเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ต่อยอดแนวความคิดเพื่อสร้างธุรกิจจริง แต่ยังเข้ากับจริตของคนไทย ที่ชอบการเรียนรู้ร่วมกัน ชอบความสนุก และยิ่งจะทำได้ดีในยามที่เกิดวิกฤตหรือมีความกดดัน  โดย อว. มุ่งหวังให้ทุกคนได้ร่วมกันเสนอปัญหา ระดมสมองและความคิดในทางสร้างสรรค์ เพื่อหาโมเดลต้นแบบมาแก้ปัญหาให้กับประเทศ และรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพราะเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน”

ด้านดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือเอ็นไอเอ กล่าวว่าเอ็นไอเอ ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทย ตั้งแต่ปี 2559  เพื่อพัฒนาผู้นำนวัตกรรมรุ่นใหม่ ผ่านแพลตฟอร์ม STEAM4Innovator ภายใต้สถาบันวิชาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy  ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ รวม 60,800 คน ผ่านการอบรมในกิจกรรม Coaching Camp, มีการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา รวม 2,740 ทีม (ไอเดีย) และมีการจัดกิจกรรม Hackathon ที่รวมยอดนักคิด นักพัฒนานวัตกรรมเพื่อเฟ้นหาแนวคิดหรือนวัตกรรมที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์และที่แข่งขันในหัวข้อเฉพาะต่างๆ ตลอดมา

 ขณะที่นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เอ็นไอเอ กล่าวถึงการดำเนินงานในปีนี้ว่า โครงการสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ลีก ประจำปี 2564  จัดขึ้นภายใต้แนวคิดเมกกะแฮกกาธอน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดรับนโยบาย “โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” โดยร่วมกับ 40 มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ จัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะ Coaching Camp และกิจกรรมประกวดแข่งขัน Pitching STARTUP THAILAND LEAGUE ระหว่างเดือน ก.พ.ถึง มิ.ย. นี้ รวมทั้งยังมีกิจกรรมการจัดแสดงผลงานต้นแบบ จาก “IDEA สู่ Prototype” ของนิสิต นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนงบประมาณ  ถือเป็นโอกาสสำคัญในการนำเสนอและแสดงผลงานต่อกลุ่มนักลงทุน และผู้ที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ ในช่วงเดือนสิงหาคมอีกด้วย