สภานโยบายฯ เคาะกรอบวงเงินปี65 งบอุดมศึกษา 117,880 ลบ.

News Update

สภานโยบายฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 65 จำนวน 117,880 ลบ. เตรียมชง ครม. ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ผลิตกำลังคนระดับสูงตามทิศทางความต้องการประเทศ

              เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564  สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จัดการประชุม ครั้งที่ 1/2564 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุมคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุมคนที่สอง

              การประชุมสภานโยบายฯ ครั้งนี้ มีการหารือในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ กรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565 การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวมทั้งหารือวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) บทบาทของ อววน. ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทย การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา การแต่งตั้งประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา และประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565

              นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายสำคัญ 3 เรื่องให้กับที่ประชุม เรื่องแรก โมเดลเศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า BCG  ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญและเห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้เน้นว่า   สภานโยบายฯ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการนำ BCG ไปปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด

              เรื่องที่สอง บทบาทด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ จึงทำให้รับมือกับโควิด-19 ได้ดี ซึ่งเกิดจากการ สั่งสมและพัฒนามาต่อเนื่องยาวนาน จึงมอบนโยบายให้สภานโยบายฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะการวางรากฐานองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลด้านยาและวัคซีนที่ต่อยอดไปได้ไม่สิ้นสุด และการเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายด้านความมั่นคงทางสุขภาพในอนาคต เช่น เรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ และสังคมผู้สูงอายุ

              และเรื่องสุดท้ายคือ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการอุดมศึกษา ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา จนขณะนี้การลงทุนด้าน R&D ของไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP และงบประมาณในด้านการอุดมศึกษาก็ได้รับความสำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนในด้านเหล่านี้จะต้องช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศเผชิญกับโควิด-19 และการมองไปข้างหน้าหลังโควิด การเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรมนุษย์ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูและทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงขอให้ยังเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรด้วยว่า ควรจะต้องสร้าง “คน” ที่มีคุณภาพทั้งความรู้ รองรับการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับจิตสำนึก คุณธรรม และจริยธรรม  

              ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่มีมติอนุมัติแต่งตั้ง ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นกรรมการของสภานโยบายฯ โดยตำแหน่งด้วย พร้อมทั้งที่ประชุมสภานโยบายฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแต่งตั้ง ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

              นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวนวงเงินทั้งสิ้น 117,880 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทงบประมาณที่สอดคล้องกับมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย งบบุคลากร จำนวน 70,427 ล้านบาท (ร้อยละ 60) งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น จำนวน 38,653 ล้านบาท (ร้อยละ 33) และได้จัดให้มีงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 8,800 ล้านบาท   (ร้อยละ 7) รวมถึงที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

              ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก ยังได้เปิดเผยถึง 3 ประเด็นสำคัญที่ได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG กระทรวง อว. โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564 มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป และให้ทุกหน่วยงานพิจารณากำหนด และดำเนินแผนงาน โครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 ตลอดจนได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อน BCG ระดับนานาชาติ ผ่านการให้ประเด็น BCG เป็นหนึ่งสารัตถะของการเตรียมการสู่การเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี พ.ศ. 2565

              สำหรับ บทบาทของ อววน. ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จนถึงการระบาดระลอกใหม่ของประเทศไทย อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศปก.ศบค. ได้มีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวง อว. ทั้งด้านวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันวิจัยทั่วประเทศ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา  ส่วนบทบาทของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวง อว. ได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2580 ขึ้น เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ

              ด้าน ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สอวช. ได้ร่วมกันจัดทำรายละเอียดการขอจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสาขาใหม่ๆ และพัฒนาสังคมและชุมชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ที่ประชุมสภานโยบายฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา และมอบหมายกระทรวง อว. ดำเนินการเสนอกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีต่อไป