อว.–สธ. เร่งระดมนักวิชาการติดตามความปลอดภัย-ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19

News Update

อว.–สธ. ย้ำ ไทยพร้อมทุกด้าน ระดมนักวิชาการชั้นนำติดตามความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ลอตแรก เริ่มต้นเดือนมี.ค.นี้ เผยตั้งเป้าฉีดเดือนละ 10 ล้านคน

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการชั้นนำของประเทศ แถลงเกี่ยวกับการบริหารจัดการและให้วัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเชื่อมั่นและลดความกังวลแก่ประชาชน พร้อมระบุเมื่อเริ่มใช้วัคซีนในปลายเดือน ก.พ. นี้ ได้จัดระบบในการติดตามและศึกษาวิจัยให้แน่ใจว่าประชาชนมีความปลอดภัยและได้รับประโยชน์จากวัคซีน และย้ำว่า “ไทยพร้อมทุกด้านที่จะใช้วัคซีนโดยมีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย”

ศาสตราจารย์ ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ศาสตราจารย์ ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า เมื่อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ลอตแรกเข้ามาในประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนด้านวิชาการและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ โดยร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนแผนงานวัคซีนแบบครบวงจรในทุกมิติ ที่ช่วยสนับสนุนกลไกในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง อว. จะให้การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสู้ภัยโควิด-19 นี้ไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือโดยนักวิชาการชั้นนำของประเทศในการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งตอบคำถามของสังคมตามหลักวิชาการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความกังวลให้กับประชาชนในการใช้วัคซีนต่อไป

“มีข่าวดีว่าผลการใช้วัคซีนโควิดออกมาได้ผลดี และประเทศไทยมาถูกทางแล้วในเรื่องนโยบายรวมทั้งการบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับวัคซีน รวมทั้งเมื่อเริ่มใช้วัคซีนในปลายเดือน ก.พ. นี้ เราจะมีระบบในการติดตาม เก็บข้อมูลและประมวลผลจากการใช้วัคซีนให้แน่ใจว่าประชาชนมีความปลอดภัยและได้รับประโยชน์จากวัคซีน ซึ่งทาง อว. โดย วช. จะสนับสนุนชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่โดยมีนักวิชาการชั้นนำของประเทศจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประมวลผลของการใช้วัคซีนในทุกมิติ ได้แก่ การติดตามความปลอดภัยของวัคซีนทั้งระยะสั้นและระยะยาว, การศึกษาประสิทธิภาพ ว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหรือไม่และนานแค่ไหนในประชากรกลุ่มต่างๆ, การติดตามประสิทธิผล โดยวิเคราะห์ว่าสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายได้หรือไม่, การติดตามการกลายพันธุ์และเฝ้าระวังว่ามีสายพันธุ์แปลกๆ ที่ไม่ได้ผลหรือไม่ และการจัดระบบการบริหารจัดการวัคซีนและผลที่เกิดขึ้นเพื่อผ่อนปรนมาตรการ เช่น การใช้วัคซีนพาสปอร์ต การปรับระยะเวลากักกันหรือกักตัว การดูแลการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นต้น” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าว 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ. มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่เริ่มระบาดในระยะแรกจนถึงปัจจุบันที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี แม้ระลอกใหม่จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่ก็สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือเรื่องการใช้วัคซีนโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีคุณภาพและความปลอดภัย โดยเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือต้องการใช้วัคซีนเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ โดยไทยได้เตรียมการเพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุด โดยมีการจองวัคซีนโควิด-19 แล้วถึง 63 ล้านโดส กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฉีดให้ครบทั้ง 63 ล้านโดสภายในปีนี้ เพราะหากไม่เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ เราก็เปิดประเทศไม่ได้ และเมื่อมีภูมิคุ้มกันระดับประเทศก็สามารถทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้ สธ. ได้วางแผนการฉีดวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 และมีเป้าหมายสำคัญ คือ1. ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนของแอสตราเซเนกาและซิโนแวค ได้ผ่านการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน จึงต้องฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย3. เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย     และที่สำคัญต้องฉีดให้ครอบคลุมคนไทยมากที่สุด เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศและจะไม่เกิดการระบาดของโรคต่อไป โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะแรก ที่มีวัคซีนปริมาณจำกัด เมื่อผ่านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย. แล้วจะฉีดให้คนไทยกลุ่มเสี่ยงทันที โดยในระยะนี้จะฉีดในช่วงกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2564 ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ มิถุนายนเป็นต้นไป และจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วและครอบคลุมมากที่สุด

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ในส่วน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้วัคซีนโควิด-19 ลอตแรกจากประเทศจีน ได้แก่ ซิโนแวคจำนวน 2 แสนโดสจะมาถึงประเทศไทย วช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. โดย อว. และ สธ. เห็นร่วมกันว่าควรมีการสนับสนุนและเร่งศึกษาเพื่อติดตามและประมวลผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและผลข้างเคียงของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ยังต้องการข้อมูลจำนวนมากเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในประเทศ  การศึกษาวิจัยให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง แม่นยำและเชื่อถือได้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัคซีนจึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ควบคู่กับการดำเนินการบริหารการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไทย โดยให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่มีการให้วัคซีนเร่งด่วน รวมถึงการติดตามผลลัพธ์และผลกระทบไปข้างหน้า 

ทั้งนี้ วช. ภายใต้ อว. โดยคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้พิจารณาความสำคัญ และสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นที่สำคัญทุกมิติ โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บริหารแผนงานดังกล่าวใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่   1. ด้านนโยบาย และระบบสุขภาพ   2. ด้านประสิทธิผล และภูมิคุ้มกัน   3. ด้านการบริหารแผนงานให้วัคซีน   4. ด้านการประกัน ควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย   5. ด้านการสื่อสาร   6. ด้านการติดตามการกลายพันธุ์

ภายใต้แผนงานจากหลากหลายสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในวันนี้มีโครงการมาแสดงตัวอย่างเช่น1.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ในประเด็นความปลอดภัย และผลกระตุ้นภูมิต้านทานของวัคซีนโควิด-19 ในประชากรผู้ใหญ่ พร้อมทั้งการจำแนกสายพันธุ์ย่อยของไวรัสและการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ

2. กรมการแพทย์ โดย รอ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ในประเด็นการประเมินอัตราการแพร่เชื้อไวรัสในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และมีอาการไม่รุนแรง3. กรมการแพทย์ โดย นพ.เมธา อภิวัฒนากุล ในประเด็นอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะทางระบบประสาทจากการฉีดวัคซีนโควิด-194. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย ในประเด็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์

5. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ ในประเด็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นกรณีโรคไตเรื้อรังและผู้ป่วยปลูกถ่ายไต6. โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ โดย ภญ.เบญจรินทร์ สันตติวงศ์ไชย ในประเด็นการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายโควิดวัคซีนโควิดของประเทศไทยและในอาเซียน