บพข.มุ่งยกระดับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม

News Update

บพข.หนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่าน 7 กรอบอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

            รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานการนโยบายกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า บพข เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และศาสตร์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

            “บพข. จะเข้ามาทำงานเพื่อเติมเต็มช่องว่างสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไทยไปไม่ถึงการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม ด้วยการสนับสนุนทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่อยู่ในกระบวนการ  “Translational Research “ หรือที่ภาคอุตสาหกรรมจะเรียกว่าการ “Development”  โดยเป็นการทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน ซึ่ง บพข.จะจับคู่นักวิจัยและเอกชนให้เข้ามาทำงานร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อนำเทคโนโลยีที่ได้ไปใช้ประโยชน์จริงในอุตสาหกรรม”  

            ทั้งนี้ บพข.มุ่งสนับสนุนทุนวิจัยใน 7 กรอบอุตสาหกรรมคือ 1. เกษตรและอาหารมูลค่าสูง ที่สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์มูลค่าสูง ได้แก่ ส่วนประกอบฟังก์ชัน (Functional ingredients)และสารสกัดจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรฐานห่วงโซ่ความเย็น(Cold Chain) และเครื่องจักรกลเกษตรและอาหาร 2. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทยให้เป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวตามแนวทางที่เป็นสากล 3. พลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ เน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพและสารเคมีชีวภาพ

            4. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม สนับสนุนแผนงานการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง 5. เศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาธุรกิจรูปแบบความร่วมมือใน Value Chain ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน 6. ระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ระบบราง การบิน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ 7. สุขภาพและการแพทย์ อย่างการพัฒนายา ชีววัตถุ เซลล์บำบัด เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงระบบการผลิต ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อการขึ้นทะเบียน

            อย่างไรก็ดีแม้จะเป็นหน่วยงานที่เริ่มทำงานได้เพียง 1 ปี แต่การสนับสนุนทุนของบพข. ได้สร้างงานวิจัยที่ได้รับความสนใจจากเอกชนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต Functional ingredients และการประยุกต์ใช้ (แผนงานเกษตรและอาหาร) แบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้จากขยะแบตเตอรี่ (แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (แผนงานระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) การบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทาง  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ (ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์) และชุดตรวจโควิด SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR หรือการพัฒนาและผลิตวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพเทียบเท่าและสามารถแข่งขันได้ (แผนงานสุขภาพและการแพทย์)

            รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง ด้วยทรัพยากรที่มีความหลากหลาย หากนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเสริม ให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ  ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการนำงานวิจัยหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปยกระดับสินค้าและบริการของประเทศไปสู่สินค้ามูลค่าสูง ไปสู่เศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจฐานนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

            สำหรับด้านสุขภาพและการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์  ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์  บพข. –  สอวช. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยมีการเจริญเติบโตหรือการพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้ายา เครื่องมือแพทย์เป็นหลัก ยาที่เราผลิตได้เองส่วนใหญ่เป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ส่วนสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients หรือ API) ที่เราสามารถผลิตได้เองมีจำนวนน้อยมาก 

            “เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ทุกคนตระหนักว่า การติดขัดของ Global Value Chain ทั้งการขนส่งสินค้า การผลิตที่ลดลง ส่งผลกระทบทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ดังนั้น ประเทศต่างในโลกจำเป็นต้องใส่ใจและหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อให้ประเทศสามารถอยู่ได้  ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดใหญ่ที่ตัดการสื่อสารหรือการขนส่งสินค้าก็ตาม บพข.ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่พัฒนาความสามารถทางการแข่งของประเทศไทย จึงเข้ามาบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”

            สำหรับเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ในระยะเวลา 5-10 ปีต่อจากนี้  สิ่งที่ บพข. คาดหวังไว้ คือ 1. ยาใหม่ซึ่งเป็นยาชีววัตถุที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองและขึ้นทะเบียนอย่างน้อย 3 ชนิด 2. มีชุดตรวจและห้องปฏิบัติการที่พร้อมไม่ต่ำกว่าห้าชุดตรวจ ที่สามารถจะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ภายในประเทศและต่างประเทศได้ 3. มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล สามารถทำยีนบำบัด (Gene Therapy) ที่เป็นวิธีการรักษาประเภท “การแพทย์แม่นยำ” หรือ “Precision Medicine” ซึ่งเป็นความหวังใหม่ในวงการแพทย์ของโลก 4. เรื่องการสกัดสารจากพืชที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งทาง บพข. คาดว่าน่าจะมีสารสกัดจากพืชที่เราสามารถเอามาทำเป็นอาหารเสริมหรือส่วนประกอบในการรักษาโรคได้

            5. การจัดตั้งบริษัทที่ทดสอบทางด้านคลินิก (Clinical Research Organization: CRO) ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีบริษัทที่เกิดจากความร่วมมือกันในรูปแบบนี้ และ 6. การเกิดเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ใหม่ๆ ในประเทศไทยและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการรวบรวมข้อมูลด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อประกอบในการใช้วินิจฉัยรักษาและควบคุมโรค ทั้งหมดจะทำให้มีการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ได้ รวมถึงทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุขได้มากขึ้น