อว.ชูเกษตรอินทรีย์ ขยายชีวภัณฑ์ลงสู่ภาคเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

News Update

กระทรวงอว.โดยวว. ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จัด Workshop การขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเชื้อเหลวด้วยถังหมักอย่างง่ายพร้อมมอบถังหมักเพาะเชื้อจุลินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต ลดการตกค้างสารเคมี สนับสนุนเกษตรปลอดภัย

        วันนี้(1 เมษายน 2564)  รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเชื้อเหลวด้วยถังหมักอย่างง่ายโมเดล วว.” ภายใต้ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล”  ที่กระทรวง อว. โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร จัดขึ้น ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

        รศ.ดร.จักษ์  กล่าวว่า   รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง ควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้และโอกาสอย่างทั่วถึง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง กระทรวง อว. จึงดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก มีแหล่งน้ำธรรมชาติ การชลประทานเหมาะสมแก่การเกษตร การเกษตรกรรมสำคัญได้แก่ การทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นอาชีพหลักของประชากร ผลงานวิจัยรวมถึงถังขยายเชื้ออย่างง่ายที่ทาง วว. นำมาลงในพื้นที่ จะช่วยให้เกษตรกรขยายจุลินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง ทันเวลา และลดต้นทุนการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทดแทนด้วยการใช้จุลินทรีย์ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในผลผลิต ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรเองและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

        “การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจของกระทรวง อว. ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม สนับสนุนระบบเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพผลผลิต ได้รับมาตรฐานเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ สามารถจำหน่ายได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวง อว. กล่าว 

        ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า   กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมหนึ่งใน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล” ที่ วว. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้พระราชกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการรับรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกร รวมถึงการเพิ่มความเข้าถึงชีวภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตและพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ เพื่อสนับสนุนระบบการผลิตเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมีในระบบการผลิตพืช  ทั้งนี้ถังหมักเพาะเชื้อจุลินทรีย์  ซึ่ง วว. มอบให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืนนั้น  จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตชีวภัณฑ์  ลดโอกาสปนเปื้อนจุลินทรีย์อื่น ลดระยะเวลาการผลิต  ชีวภัณฑ์อยู่ในรูปเชื้อน้ำ สามารถนำไปใช้งานได้ทันที

        “ วว. ให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ให้กับพี่น้องเกษตรกร  เรามุ่งเน้นการทำงานที่ครบวงจรและต่อเนื่อง กิจกรรมครั้งนี้เป็นการนำร่องโครงการและได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรอย่างดียิ่ง เชื่อมั่นว่าพื้นที่อื่นๆ ในการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล  ที่ วว. รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  นครปฐม  และอยุธยา จะประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สร้างความยั่งยืนมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศต่อไป ” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

        ด้านนายปัญญา  ใคร่ครวญ  หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน  กล่าวว่า โครงการ BCG โมเดล วว. ลงทำงานกับกลุ่มใน 2 เทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตข้าว และเทคโนโลยีการขยายชีวภัณฑ์ในถังหมักอย่างง่าย จากการทดลองใช้ชีวภัณฑ์ของ วว. เมื่อปี 2563 ถึงปัจจุบันพบว่าสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ดี ใบผักงาม ผลผลิตเติบโตดีขึ้น ทั้งนี้กลุ่มจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปขยายการผลิตชีวภัณฑ์แบบเหลวจากถังหมักฯที่ได้รับมอบ เพื่อนำไปใช้กับพืชผลทางการเกษตรให้มากขึ้น และทางกลุ่มจะร่วมวางแผนการผลิตชีวภัณฑ์กับ วว.  เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการชีวภัณฑ์และการใช้งานอย่างต่อเนื่องภายในกลุ่ม เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของ วว.และความเชี่ยวชาญเอาใจใส่ของนักวิจัยจะทำให้การดำเนินงานร่วมกันมีความยั่งยืน