สกสว. จับมือ 7 พีเอ็มยู โชว์ผลงานวิจัยเด่น

News Update

สกสว. จับมือ 7 พีเอ็มยู  แถลงผลงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “การขจัดปัญหาความยากจน  บีซีจีโมเดล และโควิด 19”    

                รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (  อว.)  เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา สกสว.สนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  โดยทำหน้าที่ในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตลอดจนจัดสรรทุนงบประมาณการวิจัยกระจายไปสู่หน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสังคมไทย   สกสว.  จึงจัดงาน “แถลงผลงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแถลงผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู)  ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)   โดยคัดเลือกโครงการที่มีผลกระทบต่อประเทศมาหน่วยงานละ 1 ผลงาน รวม 7 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “การขจัดปัญหาความยากจน  บีซีจีโมเดล และโควิด 19”   โดยซึ่งในปี 2563 – 2564  กองทุน ววน. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยเป็นเงินจำนวน 12,554 ล้านบาท และ 19,916 ล้านบาท ตามลำดับ 

                ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยถึงข้อมูลด้านทิศทางการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศ ว่า ต้องใช้ทิศทางที่ตกลงร่วมกัน เพื่อที่จะตอบโจทย์ของประเทศ  ซึ่งยุคนี้เป็นยุคของการปฏิรูปการวิจัย เราต้องใช้พลังการขับเคลื่อนให้ตรงกับตำแหน่งทิศทาง ถ้าเน้นด้านเศรษฐกิจ ต้องให้ภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดจนขายได้จริง   แหล่งผลิตสินค้าและบริการประเทศเป็นฐานการผลิตของโลก ทั้งรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เกือบทั้งหมดต้องอาศัยเทคโนโลยีและความรู้จากต่างประเทศ  เราต้องเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งผลิตที่ใช้ความรู้ของไทยมากขึ้น สร้างการขับเคลื่อนนวัตกรรม  สร้างการวิจัยที่ตอบโจทย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้  เราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีต้นทุนที่ดีด้านวัตถุดิบ  ขณะที่การดูแลสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์  (zero waste)  และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) เป็นเรื่องกว้างมาก  

                “ด้วยเหตุนี้ กสว.จึงตัดสินใจมุ่งเน้นเรื่องอาหาร เครื่องมืออุปกรณ์ ชีวภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการแพทย์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าประชากรของเราจำนวนมหาศาลที่เป็นกลุ่มเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ การลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชน และสิ่งแวดล้อมที่ดี ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งระบบการพัฒนาคนของประเทศ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ คนไทย 4.0 ปัญหาที่พบบ่อย ๆ เช่น คอร์รัปชันและคนที่กระทำความผิด เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยเสริมยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อให้คนไทยกินดีอยู่ดีและมีความสุข จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเพื่อเป็นฐานเป็นเรื่องสำคัญ  ต้องมีการพัฒนาทั้ง “องค์ความรู้ คน นักวิจัย สถาบันวิจัย และระบบ” ที่จะพัฒนาพวกเรากันเอง กับระบบพัฒนาสินค้าและบริการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ระบบการสอบเทียบ เทียบวัด ระบบรับรองมาตรฐาน ทั้งหมดนี้ต้องร้อยเรียงเข้าด้วยกัน”    

                ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ( อว.)  ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า  ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ มุ่งมั่นว่าโดยในปี 2030 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 2.0 ของจีดีพี เป็นหมุดหมายที่สำคัญประการหนึ่งว่าเราจะขยับตนเองขึ้นไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  สิ่งที่สำคัญ คือเรื่องการจัดสรรงบประมาณจะต้องบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของเราที่มีปริมาณหมื่นกว่าล้านบาทไปดึงดูดภาคเอกชนที่มีงบกว่าแสนล้านบาททำในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  ข้อสำคัญคือเราจะต้องทำให้ภาคเอกชนเกิดความไว้วางใจ จะต้องมีความรู้ที่ล้ำหน้าในเรื่องที่เป็นความเชี่ยวชาญของเรา ต้องออกจากห้องทดลอง ห้องวิจัย ออกจากหน่วยงาน ไปรับฟัง แลกเปลี่ยนกับภาคเอกชน เพื่อให้ทราบว่าแท้จริงแล้วภาคเอกชนต้องการอะไร  แล้วจึงปรับให้การลงทุนของภาครัฐสอดคล้องกับภาคเอกชน และวิน-วินด้วยกันทั้งสองฝ่าย

                “ประการสุดท้ายระบบวิจัยต้องมีจุดเน้นที่ชัดเจน  และต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ว่า งานวิจัยควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการออกจากกับดักของความยากจน และออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หมายความว่าจะต้องทำให้วิทยาศาสตร์ของเราและวิทยาศาสตร์ประยุกต์  ให้เกิดผลิตภัณฑ์ ผลิตผลและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ และต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เราจะต้องไปอยู่แถวหน้าให้ได้ โดยผมมีความเชื่อมั่นว่านักวิจัยไทยมีความสามารถสูง และเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปข้างหน้าได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”