ยูเอ็นเลือกไทยเป็นกรรมการ Life Cycle Initiative เป็นประเทศแรกในเอเชีย

News Update

อว.ปลื้ม!  ยูเอ็น เลือกไทยเป็นคณะกรรมการ Life Cycle Initiative เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมชูนโยบาย BCG สู่สากล

                วันนี้(7 ตุลาคม 2564) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)   ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ United Nations (UN) เลือกให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ Life Cycle Initiative ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ได้รับการคัดเลือก นับตั้งแต่กลุ่มสมาชิก UN มีการจัดตั้งคณะกรรมการ Life Cycle Initiative  ในปี พ.ศ. 2560 โดย สวทช. ในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามภารกิจของคณะกรรมการฯ นี้  อาทิ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อริเริ่มโครงการใหม่ๆ การจัดสรรทรัพยากร การรับรองโครงการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ การสร้างความเข้าใจแก่ภาครัฐและเอกชนเพื่อการใช้แนวคิดและกลยุทธ์ของ Life Cycle ให้สามารถนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจในมิติต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ

                 ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงศักยภาพ และผลงานด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ ของไทยสู่ระดับสากล รวมถึงการได้ร่วมพิจารณานโยบายที่สำคัญระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเกิดเครือข่ายและพัฒนาคุณภาพงานวิชาการ และเป็นเวทีที่จะนำนโยบายและผลงานทางด้าน BCG Economy Model ของรัฐบาลไป สู่ระดับสากล

                “รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่กลุ่มสมาชิก UN ได้พิจารณาและคัดเลือกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ Life Cycle Initiative เป็นครั้งแรก และได้รับการเลือกตั้งเป็น 1 ใน 3 คณะกรรมการของหน่วยงานภาครัฐร่วมกับทางคณะกรรมาธิการยุโรป และ สหรัฐอเมริกา”

                  ด้านดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมในคณะกรรมการฯ ทางช่องทางออนไลน์ต่อไป ซึ่งการเป็นคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะอยู่ในวาระ 2 ปี โดย สวทช. จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการในการรับทราบข้อมูลและมาตรการต่างๆ ในเวทีโลก โดยเฉพาะมิติการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในเวทีโลก นอกจากนั้นแล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สวทช. ได้ยกระดับคุณภาพข้อมูลสินค้าและบริการของไทย อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ให้ที่มีความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด โดยข้อมูลเหล่านี้มีการรวบรวมจัดเก็บจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย สวทช. เป็นศูนย์กลางด้านข้อมูล Life Cycle เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

                อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ตามที่องค์การสหประชาชาติ ดำเนินการแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิด “ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ถือว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bioeconomy-เศรษฐกิจชีวภาพ Circular economy-เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green economy-เศรษฐกิจสีเขียว) ที่รัฐบาลไทยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2570) ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้สื่อสารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เวทีนานาชาติได้รับทราบต่อไป