“เอนก”พร้อมหนุนงานวิจัยไทยไปให้ถึงรางวัลโนเบล

News Update

เอนก ปลื้มงานวิจัยของคนไทย ย้ำ แม้จะยาก แต่ต้องไปให้ถึงรางวัลโนเบล ให้ได้

           ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) เปิดเผยหลังจากการหารือและรับฟังความก้าวหน้าของผลงานวิจัยโดยคณะนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ว่า ตนรู้สึกประทับใจและทึ่งกับความสามารถของนักวิจัยไทยที่สามารถผลิตผลงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม สามารถนำมาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ให้แก่คนไทยและชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ผลงานวิจัยบางชิ้น เช่น ยาแก้ไขความชรา หรือ ยาย้อนวัย “มณีแดง” ยังเป็นผลงานวิจัยระดับแนวหน้าที่ควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นผลงานวิจัยโดยฝีมือคนไทยชิ้นแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล ตนได้สั่งการให้ สวทช. และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวง อว. ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้นักวิจัยไทยได้รับรางวัลโนเบล ด้วยความเชื่อในศักยภาพและฝีมือของนักวิจัยไทย หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมในทุกมิติจะสามารถสร้างผลงานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้อย่างแน่นอน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

           ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า การนำคณะนักวิจัยเข้าพบเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและหารือกับ รมว.อว. ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ รมว.อว. และพันธกิจของ สวทช. ในการผลักดันงานวิจัยให้สร้างประโยชน์และผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจะและสังคมให้แก่ประเทศ นำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูง อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ งานวิจัยที่นำมาเสนอประกอบด้วย ยาย้อนวัย “มณีแดง” ผลงานวิจัยของ ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์  มุทิรางกูร จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยแกนนำ สวทช. ที่พบว่า ความชราของดีเอ็นเอเป็นสภาวะเหนือพันธุกรรม เกิดจากการลดลงของข้อต่อดีเอ็นเอซึ่งทำให้รอยโรคของดีเอ็นเอเพิ่มขึ้น จึงพัฒนายา “มณีแดง” ที่จะช่วยเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอในเซลล์ ทำให้รอยโรคของดีเอ็นเอลดลง เซลล์กลับมามีรูปร่างและทำงานได้เหมือนเซลล์ปกติ

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์  มุทิรางกูร

           นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเรื่องการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ (Artificial Photosynthesis) โดย ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ และ ดร.ปองกานต์ จักรธรานนท์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งมีความร่วมมือกับนักวิจัยระดับโลกในการออกแบบตัวเร่งปฏิกริยาเลียนแบบกระบวนการสังเคราะห์แสงตามธรรมชาติ เพื่อแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นพลังงานและสารเคมีมูลค่าสูงโดยใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานกระตุ้น ถือเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์สองทางทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการผลิตพลังงานทดแทนและสารเคมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในคราวเดียวกัน

           งานวิจัยเรื่องการขึ้นรูปยางพาราด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดย ดร.ศศิธร ศรีสวัสดิ์ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติโดยใช้น้ำยางพาราโดยทีมนักวิจัยไทยทั้งหมด มีการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษของยางพาราที่ผ่านการขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่กึ่งของแข็ง Semi-Solid โดย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าที่ส่งผลให้แบตเตอรี่มีราคาต่ำลง มีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ทีมนักวิจัยจาก สวทช. ได้ให้คำแนะนำการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างความสามารถของทีมนักวิจัยให้แก่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จนทำให้บริษัทมั่นใจในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบกึ่งของแข็งมูลค่า 1,100 ล้านบาท

           ดร.ณรงค์ กล่าวว่า งานวิจัยของ สวทช. มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป สวทช. มุ่งมั่นในการส่งเสริมงานวิจัยที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับสูงให้แก่ประเทศ โดยจะดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของ รมว.อว. เพื่อผลักดันผลงานวิจัยของไทยและนักวิจัยไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติให้ได้