เผยโฉม “สุดยอดภาพถ่ายดาราศาสตร์” ฝีมือคนไทย

News Update

               วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2564) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีมอบรางวัลประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 อิมแพค เมืองทองธานี                            

               รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้ และขอชื่นชมในความสามารถ ความตั้งใจ และความเพียรพยายามของทุกท่านที่ได้ถ่ายภาพที่สวยงาม หาชมได้ยาก และมีคุณค่าทั้งด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ ภาพถ่ายดาราศาสตร์ถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใกล้ตัว สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็นได้ไม่ยาก อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการสังเกตและศึกษาค้นคว้าหาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล  ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่ทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม แต่ทุกท่านก็ยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ และไม่หยุดพัฒนาฝีมือด้านการถ่ายภาพดาราศาสตร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ของทุกท่านจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักถ่ายภาพ รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้สนใจเข้ามาศึกษาความมหัศจรรย์ของดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น

              นายธีรวัฒน์ ไชยกุลเจริญสิน เจ้าของภาพ “เสาแห่งแสง Light Pillars” รางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก เปิดเผยว่า ภาพนี้บันทึกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 21:08 น. บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า จังหวัดระยอง ตอนแรกตั้งใจจะไปถ่ายทางช้างเผือก แต่สภาพอากาศแปรปรวนมากราวกับว่าจะเกิดฟ้าผ่าได้ตลอดเวลา ทันใดนั้นเองก็สังเกตเห็นแสงประหลาดเต็มท้องฟ้า จึงตั้งกล้องถ่ายภาพแบบไทม์แลปส์ทิ้งไว้โดยไม่รู้ว่าคือปรากฏการณ์อะไร ภายหลังมารู้ว่าเป็นปรากฏการณ์เสาแสง ซึ่งหาชมได้ยากในประเทศไทย สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด ปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือเป็นเกียรติและรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

              ปรากฏการณ์เสาแห่งแสง หรือ Light Pillars เกิดจากการที่มีผลึกน้ำแข็งรูปแผ่นแบนจำนวนมากอยู่ในอากาศ ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างแหล่งกำเนิดแสงและผู้พบเห็น ทำให้แสงจากแหล่งกำเนิดแสงสะท้อนผิวล่างของผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ พุ่งตรงไปยังผู้พบเห็นทำให้มองเห็นเป็นเส้นแสงในแนวดิ่ง ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นจัด ผลึกน้ำแข็งดังกล่าวมักล่องลอยอยู่ใกล้พื้น ทำให้เห็นเสาแสงพุ่งขึ้นจากพื้น ส่วนกรณีปรากฏการณ์เสาแสงในประเทศไทย เกิดจากผลึกน้ำแข็งในเมฆระดับสูง เช่น เมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสง จึงเห็นเสาแสงจะปรากฏอยู่สูงจากพื้นค่อนข้างมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมค่อนข้างยากในประเทศในแถบเขตร้อน

                นายจิโรจน์ จริตควร เจ้าของภาพ “เส้นแสงดาวในฝนดาวตกเจมินิดส์” รางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์เนื่องจากไร้แสงจันทร์รบกวน จึงวางแผนถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว เดิมทีตั้งใจจะไปถ่ายที่สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี แต่เมื่อตรวจสอบสภาพอากาศแล้วพบว่ามีกลุ่มเมฆ จึงเปลี่ยนแผนย้ายไปที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน เมื่อไปถึงก็หามุมถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงบ่าย พอตกค่ำก็ตั้งกล้องถ่ายเก็บภาพไปเรื่อยๆ จนถึงรุ่งเช้า ได้ภาพรวม 700 กว่าภาพ จากนั้นนำภาพทั้งหมดมารวมกันด้วยเทคนิคสแต็คกิ้ง เกิดเป็นภาพเส้นแสงดาวที่แสดงให้เห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง อีกทั้งยังมีเส้นแสงของฝนดาวตกเจมินิดส์ติดมาด้วย สำหรับปีที่แล้วได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง แต่ในปีนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจึงรู้สึกดีใจมาก เหมือนว่าฝีมือของตนได้พัฒนาขึ้นอีกขั้น เป็นความภาคภูมิใจ ทั้งๆ ที่ตลอดมาถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่ก็เริ่มจริงจังขึ้นมาเรื่อยๆ ปัจจุบันถ่ายภาพดาราศาสตร์มาประมาณ 4 ปีแล้ว และกำลังจะขยับไปถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึกซึ่งยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง                                                                        

              สดร. จัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 แบ่งประเภทภาพถ่ายออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ปีนี้มีภาพส่งเข้าประกวดกว่า 400 ภาพ แม้จำนวนภาพถ่ายในปีนี้จะลดลงไปบ้างตามสถานการณ์ แต่ภาพทุกภาพที่ส่งเข้ามายังคงงดงามและมหัศจรรย์ สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้งหมดจะนำไปต่อยอดผลิตสื่อการเรียนรูปดาราศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ของ สดร. อาทิ ปฏิทินดาราศาสตร์ จัดทำนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์ในโอกาสต่างๆ ให้ประชาชนได้ยลโฉม และสัมผัสมหัศจรรย์ความสวยงามของท้องฟ้า ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ อย่างทั่วถึง

              ผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2564 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” มีดังนี้

              1) ประเภทภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ Monoceros Rhapsody  ผลงานของ นายวชิระ โธมัส

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ Christmas Tree Cluster (NGC 2264) ผลงานของ นายกิจจา เจียรวัฒนกนก

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ภาพ The Crescent Nebula (NGC 6888)  ผลงานของ นายกีรติ คำคงอยู่ 

รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ California Nebula  ผลงานของ นายรัตถชล อ่างมณี

              2) ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ จันทรุปราคาบางส่วน   ผลงานของ นายวิศว จงไพบูลย์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ The Great Conjunction 2020     ผลงานของ นายกีรติ คำคงอยู่

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ภาพ Annular Solar Eclipse  ผลงานของ นายกษิดิศ ลี่อำนวยเจริญ

รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ Geminids Meteor Shower Over Thai Sakura Field  ผลงานของ นายนราธิป รักษา

              3) ประเภทภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ ดาวอังคารใกล้โลก 2563   ผลงานของ นายชยพล พานิชเลิศ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ Lunar Phases   ผลงานของ นายนราธิป รักษา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่ภาพ The Jupiter with IO and IO’s Shadow ผลงานของ นายกีรติ คำคงอยู่

รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ Moon in High Dynamic Range   ผลงานของ นายวชิระ โธมัส                                 

              4) ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ เส้นแสงดาวในฝนดาวตกเจมินิดส์   ผลงานของ นายจิโรจน์ จริตควร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพ C/2020 F3 (NEOWISE) and Shiprock  ผลงานของ นายวิศณุ บุญรอด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ภาพ Zodiac Light  ผลงานของ นายชัชชัย จั่นธนากรสกุล

รางวัลชมเชย ได้แก่ ภาพปลายฤดู ที่ปลายนา วัดนาคูหา    ผลงานของ นายวชิระ  โธมัส                                           

              5) ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ภาพ เสาแห่งแสง หรือ Light Pillars  ผลงานของ นายธีรวัฒน์  ไชยกุลเจริญสิน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ภาพ Streamer   ผลงานของ นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่ภาพ  Mock Mirage Sunrise x Green Flash     ผลงานของ นายกษิดิศ ลี่อำนวยเจริญ    

รางวัลชมเชย ได้แก่ภาพ ธรรมชาติโชว์สวย    ผลงานของ นางสาวนลิน ทองใหญ่