เริ่มแล้ว!งาน BCG Health Tech Thailand 2021 ดันไทยสู่ฮับการแพทย์ในอาเซียน

News Update

กระทรวง อว. เปิดงาน BCG Health Tech Thailand 2021 “มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ”ดันไทยสู่เป้าหมาย ‘ศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน’ ในปี 2570

               วันนี้(8 ธันวาคม 2564)ที่ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย  อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนกว่า 150 หน่วยงาน จาก 7 เขตเศรษฐกิจ จัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ (BCG Health Tech Thailand 2021)” ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบไฮบริด อีเวนต์ (Hybrid Event) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และออนไลน์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี 3D เต็มรูปแบบบนช่องทาง www.healthtech-thailand.com ขานรับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่  BCG Economy Model เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานพร้อมแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ

               ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า การเปิดงานมหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ (BCG Health Tech Thailand 2021) วันนี้เป็นวันแรก ซึ่งมีความน่าสนใจโดยเฉพาะการบรรยายพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ศาสตร์สาธารณสุข คือ ศ. เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการของ World Health Organization (WHO) Science Council  ปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ บทบาทที่เป็นไปได้ของสภาวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก” และ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ปาฐกถา “BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ ความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย” นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการการแสดงสินค้านวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ อาหารและสาธารณสุข รวมทั้งเครื่องใช้และเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเกิดจากการวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างมาก

               “ผู้ประกอบด้านอาหารสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ที่มาในงาน BCG Health Tech Thailand 2021 นี้ ผมมองว่าพวกเขาไม่ได้ทำแค่ธุรกิจแต่พวกเขากำลังช่วยสร้างชาติ หากเราไม่มีธุรกิจแบบนี้ประเทศไทยจะไม่มีวันที่จะขยับไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เลย ถ้าเราเพียงแต่ทำด้านสินค้าเกษตรพืชผลต่างๆ เราอาจจะเป็นได้แค่ประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นการมีธุรกิจนวัตกรรมด้านการแพทย์จำนวนมากถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นที่น่าชื่นใจ คือ พวกเขาขายดีสู้กับนวัตกรรมต่างชาติได้สบายมาก มีทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีขนาดกลาง ที่สามารถแข่งราคากับตลาดโลกได้”

               ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า อย่างไรก็ตามกระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจที่ผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากการวิจัยอย่างเต็มที่ เพราะเป็นงานที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งกระทรวง อว. มีหน้าที่สนับสนุนนโยบายและเดินหน้ายุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพตามนโยบาย BCG Economy Model เพื่อนำกพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียนในปี 2570

               ดร.ณรงค์  ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การจัดงาน BCG Health Tech Thailand 2021 ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ สวทช. จัดเต็มพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งเป็นนิคมวิจัยสำหรับเอกชนแห่งแรกของประเทศ และจัดควบคู่กับรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี 3D Virtual Exhibition เต็มรูปแบบตลอด 12 เดือน บนช่องทาง www.healthtech-thailand.com เพื่อรองรับดำเนินธุรกิจบนโลกเสมือนจริงแบบไร้ขีดจำกัด ให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการและลูกค้าจากทั่วโลก ถือว่าเป็นมหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพครั้งแรกในรูปแบบไฮบริด อีเวนต์ (Hybrid Event) หลังรัฐบาลเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทยในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)  โดยการจัดงานดังกล่าวจะเป็นเวทีเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่ผู้ประกอบการด้านสุขภาพและการแพทย์ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์กว่า 100 ผลงาน เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดตามแผนขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

               ทั้งนี้มี 2 แผนหลักเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน (Medical Hub) ในปี 2570 ประกอบด้วย 1. การผลิตยาและวัคซีน ซึ่ง ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธาน BCG สาขายาและวัคซีน ดูแผนพัฒนาเรื่องการพัฒนาวัคซีทั้งโควิด-19 และโรคประจำถิ่นอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก รวมถึงการวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ต้านโรคโควิด-19 ร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและองค์ความรู้ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำได้ และ 2. การผลิตเครื่องมือแพทย์และวัสดุฝังในฝังร่างกายมนุษย์ ซึ่งนักวิจัยและผู้ประกอบการมีความสามารถและศักยภาพในการผลิตใช้ในประเทศรวมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นที่ยอมรับ โดยธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นในโลกหลังโควิด-19 และถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย BCG ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวารแห่งชาติ

               “การจัดงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สวทช. ในการใช้ความรู้ ความสามารถของนักวิจัย เชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในการเร่งขีดความสามารถในการนำนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ภายในปี 2570 ซึ่งต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศ ด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลและรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย” ดร.ณรงค์ กล่าว

               ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ที่น่าสนใจ อาทิ การสัมมนาในหัวข้อพิเศษมากกว่า 30 หัวข้อจากวิทยากรระดับประเทศ อาทิ เสวนา “3 สุดยอดเคล็ดเครื่องมือ” ในการต่อสู้ COVID จากนักวิจัย 3 สถาบันวิจัยชั้นของประเทศ และปาฐกถา “พัฒนาวัคซีนอย่างไรให้เท่าทันการกลายพันธุ์ของไวรัส” โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค  สวทช.) ซึ่งทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. กำลังอยู่ระหว่างการทำวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูกเพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ภายในปี 2565 นี้อีกด้วย

               ส่วนการจัดนิทรรศการมีบูธจัดแสดงนวัตกรรมพร้อมใช้ออนไซต์ 50 บูธ ออนไลน์ 300 บูธ บริการจับคู่ธุรกิจแบบ one on one กับเจ้าของธุรกิจกว่า 160 บริษัท พร้อมเวที  Open Innovation และ Innovation Pitching เพื่อให้ Start up ได้ระดมทุนในการพัฒนานวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นแล้วยังเปิดห้องให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจนวัตกรรมจากภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญ และพลาดไม่ได้สำหรับผู้เข้าร่วมงานแบบออนไซต์ ลงทะเบียนรับสิทธิ์ฟรี ! ความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลสูงสุด 100,000 บาท จากทิพยประกันภัย ระยะเวลา 30 วัน (นับจากวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564) จำกัด 1 ท่าน ต่อ 1 สิทธิ์ ส่วนสายช้อปต้องห้ามพลาดกับโปรโมชั่นพิเศษภายในงานทั้งอาหารและสินค้าเพื่อสุขภาพ ลดสูงสุด 25 % กว่า 200 ผลิตภัณฑ์

               ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแบบออนไซต์ได้ที่ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ พร้อมติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนฟรีได้ที่ www.healthtech-thailand.com และ www.facebook.com/healthtechthailandevent