ไบโอมจับมือเน็ตเบย์และฟาร์มเดอ วิลล์ ต่อยอดงานวิจัยยกระดับพืชมูลค่าสูง

เวทีวิจัย

ไบโอม จับมือ เน็ตเบย์ และฟาร์มเดอ วิลล์  ใช้ “จุลินทรีย์ Aqua bio bead ” ผลงานวิจัยจุฬาฯ ยกระดับพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง กัญชง-กัญชา  ปลอดภัยไร้สารตกค้าง 

               เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ในงานมหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ Health Tech Thailand 2021   ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการผลิตสารสำคัญของพืชมีมูลค่า ระหว่างบริษัท เน็ตเบย์  จำกัด  (มหาชน)   บริษัท ฟาร์ม เดอ วิลล์ จำกัด  และ บริษัท ไบโอม จำกัด  

               นายพิชิต วิวัฒน์รุจิจาพงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟาร์ม เดอ วิลล์ จำกัด  กล่าวว่า ฟาร์มเดอวิลล์ เป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่ ความตั้งใจของเราคือต้องการสร้างศูนย์นวัตกรรม เทคโนโลยี และศูนย์วิจัยพัฒนา เพื่อยกระดับพืชเศรษฐกิจ กัญชง-กัญชา มุ่งสู่อุตสาหกรรมการเกษตรอย่างยั่งยืน แม่นยำ ทันสมัย โดยการสร้างโรงปลูก “Hybrid Indoor Cannabis Smart Technology Plant” ควบคุมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี “Fully Automation & Central Control System” โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ฟาร์ม เดอ วิลล์ จะนำหัวเชื้อจุลินทรีย์ ชนิดเม็ดเจล Aqua biobead ที่ได้คิดค้นพัฒนาการปลูกโดยบริษัทไบโอม มาช่วยพัฒนากัญชง และกัญชา ซึ่งเป็นพืชมีมูลค่าที่ทางฟาร์มเดอวิลล์ดูแล ให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีมูลค่าสูง

               ด้านนางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไบโอม จำกัด  กล่าวว่า    ไบโอม  เป็นบริษัทแห่งแรกที่ spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจของ ศ.ดร.อลิสา วังใน และ ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ที่มีเป้าหมายจะพัฒนา ต่อยอด องค์ความรู้จากผลงานวิจัยที่มีคุณค่า สู่เชิงพาณิชย์ และเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ที่มีมูลค่าจากงานนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของนักวิจัยเป็นหลัก

               ขณะที่ ผู้วิจัยหลัก ศ.ดร.อลิสา วังใน  อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  CTO  บริษัท ไบโอม จำกัด  กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาตนและทีมงาน ได้ทำการวิจัยและพัฒนา โดยนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพ และชีววิทยาสังเคราะห์ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรที่ปลอดภัย โดยออกผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์คึกคัก เพื่อใช้ในการฟื้นฟูดินเสื่อมจากสารเคมีตกค้างในดิน และยังเป็นจุลลินทรีย์ที่เร่งการเจริญเติบโตของพืช  โดยได้นำมาทดสอบกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่นข้าว ต้นกล้ากาแฟ ดาวเรือง ยาสูบ  และผักสลัด ซึ่งพบว่าหลังจากใช้จุลินทรีย์คึกคัก แล้ว พืชดังกล่าวให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้สินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรไทยด้วย

               “ เราเห็นว่าปัจจุบันนี้การปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงนั้นมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่ จะต้องทำให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด และการใช้จุลินทรีย์ก็ยังมีความจำเป็น บริษัทเราจึงได้มีการคิดค้นวิจัยการใช้จุลินทรีย์ในรูปเม็ดเจลที่ชื่อว่า Aqua bio bead  ชนิดเม็ดเจล ซึ่งจะเหมาะกับพืชที่มีระบบปลูกแบบ Hybrid Indoor และการปลูกพืชไร้ดิน out door โดยเฉพาะ ซึ่งการนำเอาจุลินทรีย์มาใช้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดี และยังทำให้มีการสะสมสารสำคัญในพืชมากขึ้นด้วย”  ศ.ดร.อลิสา กล่าว

               ศ.ดร.อลิสา กล่าวว่า  ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีปัญหาสารเคมี ทางการเกษตรปนเปื้อนในดินและน้ำ จึงนำมาสู่การพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายสารพิษ ซึ่งจุลินทรีย์จะย่อยสลายสารเคมีที่ตกค้างในดิน ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างระบบห่วงโซ่อาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค