“ TPMAP ” จากแผนที่ชี้เป้าคนจน สู่เครื่องมือเชิงนโยบาย ติดตามแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

Cover Story

               หลายคนอาจจะเคยรู้จักและได้ยินชื่อ “TPMAP” ( ทีพีแมพ) ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “แผนที่ชี้เป้าคนจน”   ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ   พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2561  ตามนโยบายการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้าในการดำเนินการภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ

                …  2 ปีที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมรวมถึงนำร่องทดสอบใช้งานจริงในหลายจังหวัดทั่วประเทศ…

               จากเวอร์ชั่นแรก “ TPMAP1.0 “  ที่เกิดขึ้นจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติ และระดับโลก

                “การออกนโยบายแบบปูพรม ไม่สามารถแก้ปัญหาได้แบบตรงจุดและทั่วถึงในทุกพื้นที่  ซึ่งการจะแก้ปัญหาความยากจนได้นั้น สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่า  ใครคือคนจนและคนจนอยู่ที่ไหน    ปัญหาของคนจนคืออะไร และจะแก้ไขปัญหาคนจนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ”

               เพื่อหาคำตอบดังกล่าว.. จึงเป็นที่มาของ  “TPMAP 1.0”   ซึ่ง  “ดร.สุทธิพงศ์  ธัชยพงษ์”   หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์เนคเทค-สวทช.    บอกว่า  เป็นการประยุกต์ใช้การนำเข้าข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า เพื่อนำร่องในการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความยากจนใน 5 มิติ ตามบริบทของประเทศไทย คือ “ด้านสุขภาพ  ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้และการเข้าถึงบริการภาครัฐ”

               เบื้องต้นระบบใช้ข้อมูลจาก จปฐ.หรือข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน จากกรมการพัฒนาชุมชน  เป็นแกนกลางเชื่อมโยง กับฐานข้อมูลการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง เพื่อหาคนจนเป้าหมายของระบบที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 

               มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเข้าข้อมูล เกิดการบูรณาการข้อมูลทำให้ระบบสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งนอกจากมิติความยากจนแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาเป็น “ระบบสำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต”  หรือ  “TPMAP 2.0”

               ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลต่าง ๆ   ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนคนพิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลการรับเบี้ยคนพิการและผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)

               ระบบนี้ใช้เทคโนโลยีในการประมวลผลข้อมูลประกอบด้วยเทคโนโลยี บิ๊กดาต้า  อนาไลติกส์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เครือข่ายข้อมูล  มีการบูรณาการข้อมูล  ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน    และแสดงผลในรูปแบบแผนที่ เป็น Dashboard  ที่ทำให้เข้าใจฐานข้อมูลความยากจนเชิงพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ได้

               ทั้งนี้ระบบ TPMAP ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงหน่วยงานที่ต้องการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด อำเภอตำบลและหมู่บ้านได้ผ่านทาง  https://www.tpmap.in.th/  

               ..แต่การจะเข้าถึงข้อมูลรายครัวเรือนหรือรายบุคคลนั้น จะให้สิทธิเฉพาะผู้บริหารจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยเข้าผ่านระบบ  “TPMAP Logbook” (ทีพีแมพ ล็อกบุ้ค) หรือ”ระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย”    ซึ่งถือเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล…

               สำหรับระบบ TPMAP Logbook  นี้  ทีมวิจัยได้ต่อยอดพัฒนาออกมา เพื่อเป็น “เครื่องมือ”  ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานได้แบบสะดวก รวดเร็ว และแก้ปัญหาอย่างตรงจุดมากที่สุด   

               โดยเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว สามารถบันทึก แก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้ตรงตามข้อเท็จจริงในพื้นที่  ใช้สอบถามสาเหตุของปัญหา  ติดตามการแก้ปัญหารายครัวเรือน บันทึกข้อมูลปัญหาและกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือ  และสามารถรายงานผลการดำเนินงานติดตามความช่วยเหลือได้อีกด้วย

                …การที่ระบบสามารถประมวลผลวิเคราะห์ และสังเคราะห์ผู้รับสวัสดิการได้ถึงในระดับรายบุคคล  ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อน  การตกหล่น หรือการเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้   ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และคุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดิน…

               ปัจจุบัน หลายจังหวัดเริ่มนำเอาระบบ TPMAP และ TPMAP Logbook   ไปใช้งาน  โดยจังหวัดแรกที่มีการนำร่องนำระบบไปใช้งาน ก็คือ  “จังหวัดสมุทรสงคราม”  ซึ่งแม้ไม่ใช่จังหวัดที่ติดอันดับความยากจนของประเทศ แต่สมุทรสงคราม ก็ใช้ TPMAP และ TPMAP Logbook   ในการศึกษาข้อมูลปัญหาเชิงลึกของจังหวัด ซึ่งพบว่าตกเกณฑ์ในเรื่องของรายได้และการศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

               จากประโยชน์ของระบบดังกล่าว  เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและคามเหลื่อมล้ำและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยได้อย่างบูรณาการ    รวมถึงเกิดการนำระบบไปใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง และทั่วประเทศ      ล่าสุด.. เมื่อวันที่  9 ตุลาคม  2563 ที่ผ่านมา ในการประชุม  ”การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลือมล้ำในระดับพื้นที่โดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาแบบชี้เป้า” ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมี “พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ”  รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ฯ

               พลเอกประวิตร  ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง  เพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาคนทุกช่วงวัย  และการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน  พร้อมทั้งพัฒนาความถูกต้องและครอบคลุมของข้อมูลในระบบให้ครบถ้วนทุกพื้นที่เขตเมืองของประเทศไทย

               และสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จัดตั้งงบประมาณในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลือมล้ำในพื้นที่  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง  และให้ สภาพัฒน์ฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ  ยกร่างคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ รวมถึงให้สภาพัฒน์ฯ  เนคเทคร่วมกับหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ พัฒนาระบบ TPMAP ให้มีข้อมูลและประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาความยากจนและมิติการพัฒนาต่าง ๆ

               อย่างไรก็ดีในการประชุมดังกล่าว ยังมีการนำเสนอ 5 โมเดลตัวอย่างการแก้ปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ด้วยข้อมูลจาก TPMAP   คือ  จ.ขอนแก่น จ. เชียงราย จ.นครพนม จ.นครศรีธรรมราช และ จ.อุทัยธานี

                “นางสาวลัดดา  ศรีบุรมย์”  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม หนึ่งในจังหวัดนำร่อง บอกถึง การนำ TPMAP และ TPMAP Logbook  ไปใช้งานว่า ใช้ในการชี้เป้าครัวเรือนเป้าหมายที่จะให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ  ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ”นครพนม สร้างสังคมอุดมสุข” จำนวน 278 ครัวเรือน  ผลตอบรับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะระบบช่วยชี้เป้าได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกันครัวเรือน ก็มีความพึงพอใจกับโครงการและอยากให้ส่วนราชการมองเห็น  ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ทั้งนี้ในปี 2564 จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปเรื่อย ๆ  และให้ความสำคัญกับ TPMAP Logbook  มากขึ้น  

               ด้าน ดร.ชัย  วุฒิวิวัฒน์ชัย  ผู้อำนวยการเนคเทค   บอกว่า ที่ผ่านมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับนโยบายให้นำ TPMAP ไปใช้มาแล้วระยะหนึ่ง แต่ครั้งนี้ท่านรองนายกได้มาเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การนำไปใช้ได้มีตัวอย่างของจังหวัดที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ 5 จังหวัดที่มาแสดงและมีวิธีการอย่างไร ซึ่งมีความหลากหลายในการลงไปแก้ไขปัญหา โดยจุดสำคัญอยู่ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมีการตั้งกลไกในการเอาตัวระบบนี้ไปติดตามและไปใช้งาน  คาดว่าหลังจากนี้   จะมีวิธีการถ่ายทอดกระบวนการให้ผู้ว่า ฯ  ในอีกหลายจังหวัดที่สนใจ และมีการตั้งเรื่องปัญหาความยากจนเป็นวาระของจังหวัด ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนทำได้รวดเร็วขึ้น  

               “ ผมเชื่อแน่ว่าระบบนี้จะต้องพัฒนาการต่อไป  เมื่อมีนโยบายชัดเจน การรวบรวมข้อมูลสำคัญต่าง  ๆจะเกิดได้ง่ายขึ้น   ซึ่งจะช่วยบอกได้อย่างมากว่าคนจนอยู่ที่ไหน มีปัญหาอะไร   ส่วนตัว TPMAP Logbook   ซึ่งเป็นตัวบันทึกการทำกิจกรรมในการแก้ไขปัญหา  ซึ่งมีที่มาจากการที่ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสงครามลงพื้นที่แล้วพบว่าควรจะมีระบบนี้   เพราะฉะนั้นในอีกหลาย ๆ จังหวัดที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น   ผมเชื่อว่าเขาจะแนะนำว่าจริง ๆ แล้วควรจะเพิ่มอะไรอีก ซึ่งเนคเทคก็พร้อม  โดยมีสภาพัฒน์ฯ เป็นคนช่วยแนะนำว่าเราควรจะทำระบบอะไรเพิ่มเติมได้ด้วย ”   

               เรียกได้ว่า…มีระบบนี้เป็นตัวตั้งต้น  และระบบนี้ไม่ใช่แค่ชี้เป้า”คนจน” แต่ยังทำให้เห็นถึงความคืบหน้าของการช่วยกันแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศอย่างเรื่องของความยากจนอีกด้วย  

               จังหวัดไหนยังไม่ใช้… รีบด่วน!