จิสด้าใช้เทคโนโลยีร่วมถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก

News Update

GISTDA ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI ถอดบทเรียน ESB ถึง EEC เปิดผลติดตามการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วย AIP Platform ชู 4 ข้อเสนอ พัฒนาพื้นที่ ศก.พิเศษ อย่างยั่งยืน

               วันนี้ ( 11 มกราคม 2565) GISTDA ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก” ผ่าน Cisco Webex และ Facebook Live เพื่อนำเสนอรายงาน “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” ต่อสาธารณชน   พร้อมจัดเวทีเสวนา “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก” ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบถึงผลลัพธ์จากการถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ESB และนำมาสู่ผลการติดตามโครงการ EEC โดยคณะผู้วิจัยจากทั้งสามสถาบัน ผ่านการใช้เครื่องมือ Actionable Intelligence Policy หรือ AIP เทคโนโลยีที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการติดตามความเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมเสนอให้เป็นแนวทางในการใช้ติดตามการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ อย่างยั่งยืนในอนาคต

                ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และประธานของงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ กล่าวว่า งานสัมมนาวิชาการนี้ เป็นการจัดงานด้วยความร่วมมือระหว่าง GISTDA, TDRI และ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา การติดตามสถานะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และบริบทของพื้นที่ในภาคตะวันออก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) พร้อมขับเคลื่อนแนวคิดและหลักการใช้ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในพื้นที่ สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย อีกทั้งต้องการส่งเสริมการนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาพื้นที่ของผู้กําหนดนโยบายในพื้นที่ EEC และภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

               โดย GISTDA มีบทบาทสำคัญในการนําเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Geo-Spatial data) และพัฒนา Platform เรียกว่า Actionable Intelligence Policy หรือ AIP สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็น Platformแสดงผลบน Dashboard  ที่ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ปัญหาและสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ ให้สอดคล้องกับศักยภาพ ความสามารถที่รองรับได้

               ด้าน  ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา บรรณาธิการของรายงานฯ  จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า รายงายฉบับนี้ถอดบทเรียนการดำเนินงานและผลกระทบของการพัฒนา ESB มาปรับปรุงเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยข้อผิดพลาดในอดีต ทั้งเรื่องการใช้พื้นที่เกินขีดความสามารถ การขาดการจัดทำผังเมืองที่ดี การลักลอบทิ้งของเสีย ปัญหาอาชญากรรม และการขาดการมีส่วนรวมของประชาชน เพื่อให้โครงการ EEC อยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ลดภาระทางการคลังภาคเอกชน และคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง พร้อมกับการติดตามประเด็นทางสิ่งแวดล้อม

               ซึ่งผลการศึกษาได้นำมาสู่ 4 แนวทางในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยั่งยืนทั้งสำหรับ EEC และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่

               1. การจัดทำและบังคับใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังที่ EEC ได้ดำเนินการแล้ว เพื่อให้สามารถกำหนดพื้นที่เพื่อกิจกรรมต่างๆ ได้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และการอยู่ร่วมกันในสังคม

               2. การกำหนดจำนวนผู้ประกอบการหรือจำนวนโรงงานแต่ละประเภท โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ มีการจำกัดจำนวนใบอนุญาต จัดระบบซื้อขายใบอนุญาต ดังที่ สกพอ. ใช้ควบคู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

               3. การพัฒนาระบบขนส่งขยะ ของเสีย การคัดแยก และกำจัดขยะ ของเสียในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมตามมาด้วยของเสียหรือขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ และขยะมูลฝอยจากชุมชน จึงต้องมีการกำหนดพื้นที่และมีนวัตกรรมสำหรับการกำจัดขยะทุกประเภทอย่างเหมาะสม

               4. ผลักดันให้นำธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Governance) มาปฏิบัติเป็นแนวทางปกติในการประกอบกิจการหรืออุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีการให้ความรู้และเปิดเผยข้อมูลต่อชุมชนให้ทราบ รวมทั้งพัฒนาให้มีระบบการติดตามการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อเนื่อง  ดังเช่นที่รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอเทคโนโลยี AIP ของ GISTDA ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้มีระบบเฝ้าระวังทุกมิติด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชน ระบบจัดเก็บและใช้ข้อมูล

                รศ.ดร.อดิศร์  อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้อธิบายถึงผลการติดตามความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ EEC ว่า ผู้วิจัยได้ออกแบบ Dashboard ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 3 ด้าน 8 องค์ประกอบ ได้แก่

               ด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1.การจัดการน้ำ พบว่า การจัดการน้ำใน EEC มีประสิทธิภาพ มีค่าดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำอยู่ที่ 3.35 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ   2.มลพิษทางอากาศ พบว่า มีคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับระดับประเทศ ซึ่ง EEC ควรให้ความสำคัญกับการั่วไหลของสารระเหย VOC  3.การจัดการขยะ  พบว่า มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ

               ด้านเศรษฐกิจ คือ 4.ความยากจน พบว่า การมีเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ส่งผลให้จำนวนคนจนลดลงกว่าพื้นที่อื่นๆ และส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย  โดย พบว่า พื้นที่ EEC มีจำนวนคนจนเฉลี่ย 6.36 คน ต่อประชากร 1 พันคน และมีค่าครองชีพขั้นต่ำ 3,100 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแสดงถึงค่าครองชีพที่สูงกว่าในระดับประเทศ อยู่ที่ 2,762 บาท 5.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  การมีเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ส่งผลให้รายได้ประชาชาติต่อคนในระดับจังหวัดสูงขึ้น โดยพบว่า ในพื้นที่ EEC มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 25,293.43 บาทต่อเดือน และมี GPP 672,996 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็น 2.8 เท่าของค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

               สำหรับด้านสังคม ประกอบด้วย 6.สุขภาพ พบว่า ประชาชนในพื้นที่ EEC เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และมีอัตราตายด้วยโรคมะเร็งอยู่ที่ 106.14 คนต่อประชากร 1แสนคน ซึ่งต่ำกว่าระดับประเทศ 7.คุณภาพชีวิต พบว่า มีพื้นที่สีเขียวน้อย หรือ 41.40 ตารางเมตร/คน หรือเพียงครึ่งหนึ่งของระดับประเทศ ส่วนด้านการศึกษา พบว่ามีอัตราการเข้าถึงการศึกษาในระดับ ม.ปลายและอาชีวการศึกษา ร้อยละ 86.39 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับประเทศที่ 76.42 อย่างไรก็ตามใน EEC มีอัตราการเกิดอาชญากรรม สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศถึง 1.4 เท่า หรือ 121.36 คดีต่อ 1 แสนประชากร 8.ความเท่าเทียมกันของรายได้ พบว่า การกระจายรายได้ หรือค่า GINI อยู่ที่ 34.43 ดีกว่าในระดับประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 43.01

               การวัดผลตัวชี้วัดเหล่านี้ ยังมีข้อมูลภูมิสารสนเทศของ GISTDA และ ใช้ ระบบ AIP Platform (Actionable Intelligence Policy) ในการช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล มาใช้งานติดตามการพัฒนาภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มาร่วมประกอบด้วย โดยมีการจัดทำ Dashboard ให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา ทำให้มีทางเลือกในการตัดสินใจทางนโยบายได้ทันเวลา ป้องกันผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงตามดัชนีชี้วัดแล้ว ผลการศึกษาในพื้นที่ EEC ของรายงานฉบับนี้ ยังเผยให้เห็นการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม ทั้งตัวอย่างการจัดการที่ดี และ ปัญหา อุปสรรคในการจัดการขยะ

                 ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์  นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว TDRI กล่าวว่าในพื้นที่ EEC ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะติดเชื้อ และขยะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ศักยภาพในการกำจัดขยะทั้ง 3 ประเภทมีข้อจำกัด แม้จะมีโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีคัดแยกขยะโดยแปลงเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) และมาตรการอื่น ๆ ในการจัดขยะแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับขยะที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีขยะมูลฝอยชุมชนและขยะติดเชื้อตกค้างในพื้นที่   

               นอกจากนี้ การรณรงค์และสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทางยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความรู้ในการคัดแยกและราคารับซื้อขยะรีไซเคิลที่ไม่จูงใจ อีกทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางพื้นที่ประสบข้อจำกัดด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และบุคลากรในการจัดการขยะมูลฝอย ส่งผลให้การกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้การฝังกลบขยะยังประสบอุปสรรคและข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ดินสำหรับใช้เป็นสถานที่กำจัด เนื่องจากการฝังกลบต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

               สำหรับขยะอุตสาหกรรม มีปัญหาเรื่องการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นของโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่สมดุลกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งขีดความสามารถในการรองรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยรวมยังไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากการจัดการขยะอุตสาหกรรมอันตรายมีต้นทุนการจัดการที่ค่อนข้างสูงและได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า จึงมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่นำขยะอุตสาหกรรมอันตรายไปจัดการด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ ดังเช่น เหตุลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมริมทางรถไฟ อ.บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นต้น

               จากข้อค้นพบดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการติดตามการดำเนินงาน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะที่สำคัญมีดังนี้

                ข้อเสนอแนะในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ที่ต้นทาง ควรเร่งสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดการทิ้งขยะและคัดแยกขยะอย่างถูกต้องที่ต้นทาง สร้างแรงจูงในให้คัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกต้อง พัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และควรส่งเสริมให้มีการลดการเกิดขยะสำหรับพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ในการกำจัดขยะ เช่น เกาะ เป็นต้น ที่กลางทาง ควรสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการทิ้ง/ขายขยะรีไซเคิลและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล เช่น ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ควรอำนวยความสะดวกโดยจัดให้มีจุดรับทิ้งขยะรีไซเคิล (Drop-off points) ให้ครอบคลุมพื้นที่และอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก และควรส่งเสริมการนำขยะมูลฝอยชุมชนที่ผ่านการคัดแยกไปเป็นวัตถุดิบรอบสองเพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ปลายทาง ควรสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำ MOU ระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้ประกอบการวางแผนด้านการจัดการขยะ ควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยในอัตราที่สอดคล้องกับต้นทุน และควรเลือกพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยและสถานที่ในการกำจัดขยะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

               ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการขยะอุตสาหกรรม ที่ต้นทาง ควรสร้างแรงจูงใจให้ลดการสร้างขยะที่ต้นทาง อีกทั้งพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม เช่น กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) เป็นต้น ที่กลางทางควรส่งเสริมให้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการกำจัด โดยอาจพิจารณานำเทคโนโลยีในการนำขยะอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรมอันตรายและสารเคมีที่ใช้แล้ว อีกทั้งส่งเสริมแนวคิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis) ที่ปลายทาง ควรคำนึงถึงศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity) โดยจำเป็นจะต้องจัดหาพื้นที่สำหรับกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่เหมาะสมและบริหารจัดการอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนื่องจากธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมมี Barrier for Entry สูง ดังนั้น ภาครัฐอาจพิจารณาให้การช่วยเหลือผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน

               โดยสรุป จากข้อมูลตัวชี้วัดการพัฒนาแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ภาคตะวันออกได้สะท้อนจุดแข็งของการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจและสังคม ทั้งเรื่องการลดความยากจน และรายได้ประชาชาติจังหวัดต่อคน การเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขซึ่งมีค่าเฉลี่ยดีกว่าในระดับประเทศ แต่ยังมีบางแง่มุมที่ยังต้องแก้ไขปัญหาต่อไป โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สีเขียว และการจัดการขยะดังที่คณะผู้จัดทำรายงานได้รายงานและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งการใช้ AIP Platform พร้อมการเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายและมาตรการสำหรับแก้ไขปัญหาขยะ รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างตรงจุดและทันต่อการเปลี่ยนแปลง อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของการใช้นวัตกรรม AIP เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป