วช.หนุนต่อยอดพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมเตียงผู้ป่วยแก้ปัญหาแผลกดทับ

เวทีวิจัย

วช.หนุนนักวิจัย มทร.อีสานพัฒนาเตียงผู้ป่วยติดเตียง –ผู้สูงวัยสู้ปัญหาแผลกดทับ พร้อมเป็นทางเลือกสู่ให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย


               รศ.ดร.ศักดิ์ระวี ระวีกุล นักวิจัยสาขาวิศกรรมไฟฟ้า ด้านระบบควบคุมไฟฟ้าและ นวัตกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เรื่อง “การพัฒนาต่อยอดระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคงและเบาะเจลยางพาราป้องกันแผลกดทับ Doctor N Medigel เพื่อให้ได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ระดับสากล สำหรับใช้งานในหอผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19” ซึ่งผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัยที่ต้องนอนเตียงเป็นเวลานาน ๆ เกิดผลข้างเคียงอันเนื่องจากผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง บริเวณที่ถูกกดทับ มีการตายของเนื้อเยื่อซึ่งแรงกดมากกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ถึง 4 ชั่วโมง ทำให้มีปัจจัยต่อการเกิดแผลกดทับ การเกิดแผลกดทับจะส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน และส่งผลกระทบต่อทางด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย

               ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะวิจัยพัฒนาต่อยอดงานวิจัยนี้ เป็นทางเลือกให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศได้พัฒนาขยายโอกาสทางธุรกิจเพิ่มช่องทางการแข่งขันทางการตลาดให้หลากหลาย และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงช่วยแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งมีผู้ป่วยปอดอักเสบที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องช่วยหายใจในท่าคว่ำ เพื่อให้สามารถคงค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยได้ ซึ่งการจะพลิกคว่ำเปลี่ยนท่าผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องใช้พยาบาลหลายคนในการเปลี่ยนท่าผู้ป่วย แต่หากใช้เตียงพลิกตะแคงและ software นี้จะช่วยผ่อนแรงพยาบาลได้ และสามารถควบคุมการเปลี่ยนท่าจาก software central control ได้ ทำให้พยาบาลไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อมากเกินไป

               รศ.ดร.ศักดิ์ระวี กล่าวต่อว่า การนำเตียงดังกล่าวมาใช้ในหอผู้ป่วยวิกฤตนั้นจำเป็นที่จะต้องผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานขั้นสูงสุด ซึ่งเตียงผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถส่งข้อมูล และ รับข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน ทำให้การเข้าถึงการควบคุมช่วยเหลือ ผู้ป่วย ผู้สูงวัยทำได้รวดเร็ว ซึ่งนวัตกรรมระบบควบคุมต่าง ๆ ได้รับจดทรัพย์สินทางปัญญา และ ผ่านการทดสอบมาตรฐาน ซอฟต์แวร์ ทางการแพทย์ ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับผู้ใช้งานและ ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี