อว. เร่งผลิตกำลังคนด้านมาตรวิทยารองรับความต้องการแรงงานในอีอีซี

Inbox @ Inno

         ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของ อว. ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานการวัดของประเทศ ให้ความเชื่อมั่นในความถูกต้องของเครื่องมือวัดทั้งหมดในประเทศที่ใช้ในภาคการผลิตและบริการที่มีผลกระทบทั้งในภาคเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยทักษะและวิชาชีพที่เฉพาะ   

         “ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ  เล็งเห็นประโยชน์ในการนำองค์ความรู้ด้านมาตรวิทยาของสถาบัน ไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้านมาตรวิทยา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ยังคงต้องการแรงงานที่มีความรู้ และทักษะด้านการวัดที่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก   โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี  โดยการบูรณาการหน่วยงานมาตรวิทยากับสถาบันการศึกษาใน อว. ร่วมกันผลิตกำลังคนของประเทศ จะทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนและรองรับการผลิตแรงงานปัจจุบัน รวมถึงแรงงานอนาคต (นักศึกษา) ให้มีคุณภาพทั้งด้านทักษะและวิชาการทางมาตรวิทยาสู่ภาคการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และมุ่งหวังที่จะสร้างแรงงานที่มีความรู้และทักษะทางมาตรวิทยาในหน่วยงานทั้งในภาคการผลิต และการศึกษาให้สามารถนำเทคโนโลยีมาตรวิทยาไปช่วยในการปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการผลิต อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตจากการผลิตซ้ำ      เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการนำกลับมาทดสอบใหม่ของผลิตภัณฑ์ และลดค่าใช้จ่ายในการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบโดยไม่จำเป็น อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการสร้างความพร้อมให้กับแรงงานในการตอบสนองการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

         ด้าน นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)  เปิดเผยว่า สถาบันมีความพร้อมในการนำความรู้ในเรื่องมาตรฐานการวัด การใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง เทคนิคการวัด ตลอดจนถึงการจัดการด้านคุณภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานการวัดระหว่างประเทศ ไปเพิ่มทักษะให้กับนิสิต นักศึกษาในสายวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มุ่งสู่ภาคการผลิตและบริการ โดยการนำหลักสูตร “มาตรวิทยาเพื่ออุตสาหกรรม (Metrology for Industry)” บรรจุในการเรียนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในรูปแบบ non-degree   หลักสูตรนี้จะสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะของเครื่องมือวัดหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิต ที่มาของความถูกต้องเชื่อถือได้ในผลการวัดของเครื่องมือและมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง     ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปีการศึกษา 2565 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันได้ร่วมมือพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนด้านมาตรวิทยาให้แก่นักศึกษา บุคคลากรของสถาบันการอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรองรับความต้องการตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี ในการสร้างความพร้อมให้กับนักศึกษาเพิ่มศักยภาพแรงงานตอบสนองพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป  โดย มว. มีแผนการดำเนินงานในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจำนวน 9 มหาวิทยาลัย และขยายผลสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 มหาวิทยาลัยต่อไป ด้วยเป้าหมายที่จะสามารถผลิตกำลังคนด้านมาตรวิทยารองรับความต้องการอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ กว่า 4,000 คนในอนาคต