วิศวะมหิดลจับมือทีบีซีวิจัยผลกระทบวัฏจักรชีวิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบครบวงจร

News Update

ไทยเบเวอร์เรจ แคน จับมือวิศวะมหิดล ประเมินวัฏจักรชีวิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียม มุ่งยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์กระป๋องเครื่องดื่มไทยให้ยั่งยืนครบวงจร

             นายสาโรช  ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด (ทีบีซี) ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ของบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทีบีซี มีแนวทางดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบดำเนินงานด้านความยั่งยืน (SDG) ซึ่งมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบและผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และได้เริ่มใช้กลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการดำเนินงานและบริหารจัดการ เช่น Circular Supply Chain เลือกใช้คู่ค้าที่มีสัดส่วนการใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิลในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการจัดเก็บกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วในตลาดให้กลับมาเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง ลดโอกาสที่วัสดุจะถูกนำไปฝังกลบ เรียกว่า Close Loop Packaging และยังช่วยภาคสังคมในการสร้างรายได้ให้กับอาชีพรับซื้อขยะรีไซเคิล  เป็นต้น 

             ทั้งนี้การทำ Close Loop Packaging หรือ Circular Economy ต้องมีมุมมองให้ครบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม   ทีบีซี จึงให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัย การประเมินวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศไทย โดยศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การขึ้นรูปจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ การส่งต่อให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน จนกระทั่งการจัดการซากบรรจุภัณฑ์ และการหาข้อมูลรีไซเคิลในประเทศไทย

             และล่าสุดบริษัทฯได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยเริ่มดำเนินโครงการแรก การศึกษาวิจัยการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของวัฏจักรชีวิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ได้แก่ กระป๋องอลูมิเนียม, ขวดพลาสติกประเภท PET, ขวดแก้ว และกล่องเครื่องดื่ม (Life Cycle Assessment of Beverage Packaging – Aluminum Cans, Polyethylene Terephthalate Bottles, Glass bottles and Carton – in Thailand)”  โดยจะนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานในวงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมของไทยต่อไป

             ด้าน รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขยะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในสถานการณ์ปกติ ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปีละกว่า 27.8 ล้านตัน จากการที่คนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม ในนั้นประมาณ 12 -13% เป็นขยะพลาสติก ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณขยะพลาสติก ประมาณ 20% หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,560 ตันต่อวัน จิตสำนึกและการลงมือทำจากทุกภาคส่วนทั้งซัพพลายเชน ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้ และการบริหารจัดการขยะ จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

             สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ทีมนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  จะร่วมวางแผนและดำเนินการให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้คือเพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยด้านวิศวกรรมบูรณาการ และการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศไทย โดยขอบเขตของความร่วมมือจะต้องร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรมบูรณาการ และผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยจากความร่วมมือนี้ไปใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป  

             รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา  หัวหน้าโครงการและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อย่างมาก ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้มีจุดเด่นและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง  ทางทีมผู้วิจัยจึงนำเครื่องมือ การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) มาใช้ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในโครงการวิจัย เรื่อง “การประเมินวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ประเภทกระป๋องอะลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม อีก 3 ประเภทในประเทศไทย  ซึ่งผลวิจัยจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ โดยใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนา ออกแบบบรรจุภัณฑ์และเลือกใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมมากที่สุด และทราบถึงข้อที่ควรต้องปรับปรุง และข้อส่งเสริมของแต่ละบรรจุภัณฑ์   

             ด้านวงการอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน จะเป็นข้อมูลนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีพลังและผลักดันให้เกิดความร่วมมือรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรฐานและประสิทธิภาพในรูปของเศรษฐกิจหมุนเวียน  สำหรับด้านสังคมไทย จะเป็นการเสริมสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมรีไซเคิล สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ในการช่วยกันเพิ่มการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ และ ด้านสิ่งแวดล้อมโลก  โครงการนี้จะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการจริง (Action) เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่กำลังเป็นปัญหาคุกคามนานาประเทศ