สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2565

News Update

(28 มีนาคม 2565) สวทช.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2565 (NSTDA Annual Conference: NAC2022) ภายใต้แนวคิด “พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG” (Revitalizing Thai Economy through BCG Research and Innovation) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ระหว่างวันที่ 28 -31 มีนาคม 2565 บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี คณะผู้บริหารกระทรวง อว.  นักวิจัยและพนักงาน สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.กราบบังคมทูลรายงานว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีการดำเนินงานตามพันธกิจที่มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาผลงานวิจัยที่ได้ใช้ประโยชน์จริงต่อเกษตรกรและชุมชน ต่อภาคอุตสาหกรรม และสาธารณชนทั่วไป อย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานโดยสรุป ได้แก่ บทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 738 บทความ จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการใช้ประโยชน์ 433 รายการ มูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 73,692 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในภาคการผลิตและภาคบริการ 25,224 ล้านบาท สนับสนุนนักศึกษาปริญญาโทและเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก ให้ร่วมทำงานวิจัยกับ สวทช. 739 คน และมีเกษตรกรที่นำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ 9,213 คน

         สำหรับแนวคิดของการประชุมประจำปี สวทช. ในปีนี้ นั้น ตามที่ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ โดยประกาศเป้าหมายให้ BCG เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG ประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในฐานความหลายหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ร่วมกับทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน

         สวทช. จึงได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2565 ออนไลน์เต็มรูปแบบทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac  โดยนำเสนอองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ BCG เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

         ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กราบบังคมทูลเบิกคณะนักวิจัยทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2562 และ 2563  ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยและการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 22,23 และ 24 และผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 12 และ 13 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร

         จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2565 และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” และนิทรรศการความก้าวหน้าทางงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. อาทิ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, โครงการสมุนไพรรักษ์น้ำ, โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ, โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ, ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการแสดงผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทย อาทิ

         กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ “Plant-based egg” ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวจากโปรตีนพืช ทีมวิจัย  ไบโอเทค และบริษัท ดรอปแอนด์พิค กรุ๊ป จำกัด ได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์จากโปรตีนพืชครั้งแรกของไทยที่มีคุณสมบัติในการขึ้นรูปในระหว่างการทอดในน้ำมันได้ และเนื้อสัมผัส ใกล้เคียงกับไข่ไก่ นำไปใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เหมาะสำหรับผู้บริโภคกลุ่มกินวีแกน(Vegan) และผู้ที่แพ้ไข่ไก่ และชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์ปลอดเชื้อ

         กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ได้แก่ เทคโนโลยี Pseudotype virus (ไวรัสตัวแทน) สำหรับประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ผลงานพัฒนาสำเร็จและได้ใช้งานจริงเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนกับโครงการวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย

         เทคโนโลยีไมโครนีดเดิล: แผ่นเข็มจิ๋วที่ออกแบบได้ตามสั่งผลิตได้อย่างรวดเร็วบนผืนผ้า โดยประยุกต์ใช้โครงสร้างคล้ายเข็มขนาดเล็ก ที่มีปลายเข็มขาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร (เล็กกว่าเส้นผมเกือบสิบเท่า) สร้างช่องทางนำส่งสารสำคัญผ่านชิ้นผิวหนังได้ง่าย ไม่ทำให้เจ็บเรือเกิดรอย มีศักยภาพในการใช้งานด้านสุขภาพความงามและสามารถต่อยอดสู่ด้านการแพทย์เพื่อนำส่งยาเวชภัณฑ์ หรือ วัคซีนได้

         และเครื่อง BodiiRay P (บอดีเรย์ พี) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสองมิติ (Portable Digital Radiography) ที่วิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. ใช้สำหรับเอกซเรย์อวัยวะภายในแบบสองมิติ เครื่องมีขนาดเล็กและสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปใช้งานในที่ต่างๆ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดเอกซเรย์ ฉากรับรังสีดิจิทัลแบบไร้สาย คอมพิวเตอร์แบบพกพา ซอฟต์แวร์บริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยและจัดเก็บภาพถ่ายเอกชเรย์ ตั้งค่าและควบคุมการถ่ายเอกชเรย์ ประมวลผลภาพ และแสดงภาพเอกซเรย์แบบดิจิทัล (RadiView Software) โดยสามารถเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บสื่อสารข้อมูลภาพทางการแพทย์ (PACS) ได้

         กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ ซึ่งนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ลดปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้มีปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ช่วยยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางสังเคราะห์

         กลุ่มดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมAR/VR Technology สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงวิศวกรรม เป็นการนำเทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ เอ-อาร์ (AR) และเทคโนโลยีความจริงเสมือนหรือ วี-อาร์ (VR) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและวิจัยเชิงวิศวกรรม รวมถึงสร้างสื่อการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา แบบ New Normal Schools ที่สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ เข้าถึงทุกกลุ่มวัยสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา

         จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลการดำเนินงานของ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ : (National Biobank of Thailand หรือ NBT) หนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Infrastructure: NSTI) จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2562 โดยได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์จากโครงการ Big Rock ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2561 เพื่อทำให้ประเทศมีศักยภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ มีกระบวนการจัดเก็บที่มีมาตรฐานสากล และใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยทำให้คงสภาพการมีชีวิตได้อย่างยาวนานประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าแรงในการดูแลรักษา และสามารถนำกลับมาฟื้นฟูได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ โดยทรัพยากรชีวภาพที่นำมาฝากกับ NBT ยังคงเป็นของผู้นำฝากอยู่เสมอ

         ปัจจุบัน NBT ได้มีโครงการอนุรักษ์ร่วมกับพันธมิตรวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ตัวอย่างพืชและจุลินทรีย์ที่ได้จากโครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่ได้จากการสำรวจถ้ำในอุทยานธรณีสตูลที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNESCO และความร่วมมือในการอนุรักษ์พืชกับทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ Royal Botanic Gardens Kew สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นธนาคารเมล็ดที่มีการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชป่า พร้อมองค์ความรู้มากที่สุดในโลก เพื่อสนับสนุนการวิจัยและอนุรักษ์พรรณไม้ในรูปแบบของธนาคารเมล็ดให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ

         โอกาสนี้ทอดพระเนตรการสาธิตนิทรรศการภาพเสมือน (NBT virtual tour) ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ NBT มีโครงการความร่วมมือจัดทำ NBT Virtual Tour เป็นการสร้างโลกเสมือนจริงคู่ขนานของ NBT โดยทำการจำลองห้องปฏิบัติการและพื้นที่ปลอดเชื้อต่าง ๆ ภายใน NBT ให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาเพิ่มเติมผ่านสื่อออนไลน์ โดยการสาธิต NBT Virtual Tour ครั้งนี้ มีการนำเสนอห้องปฏิบัติการธนาคารเมล็ดพรรณพืช ให้ผู้ที่เข้าชมสามารถหยิบเมล็ดจำลองที่อยู่บนโต๊ะขึ้นมาดูได้ พร้อมเปิดดูข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ แหล่งที่พบตัวอย่างดังกล่าว และยังสามารถกดเข้าชมพื้นที่จำลองของแหล่งที่พบตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ได้

         ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 นี้ จัดออนไลน์เต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม ประกอบด้วย สัมมนาออนไลน์ 45 หัวข้อ นิทรรศการออนไลน์ 102 เรื่อง และกิจกรรม Open House หรือ การเปิดห้องปฏิบัติการแบบออนไลน์ ซึ่งนักอุตสาหกรรม พันธมิตรและนักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยของ สวทช. 45 ห้องปฏิบัติการ จำนวน 60 เรื่อง ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac เท่านั้น