สวทช.เปิดตัวบริษัทร่วมทุน ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์

News Update

สวทช. และ ไบโอเบส ยุโรป ไพล็อท แพลนท์  เปิดตัวบริษัทร่วมทุน ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แบบอเนกประสงค์ ที่เมืองนวัตกรรมชีวภาพ ใน EECi

                เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565  บริษัท ไบโอเบส ยุโรป ไพล็อท แพลนท์ (BBEPP) ประเทศเบลเยี่ยมและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประเทศไทย ประกาศเปิดบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP) ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แบบอเนกประสงค์ (multipurpose biorefinery pilot plant) สร้างขึ้นในพื้นที่ “ไบโอโพลิส (Biopolis)” เมืองนวัตกรรมชีวภาพที่รองรับการทำวิจัยขยายผลซึ่งเป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมตั้งอยู่ที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ประเทศไทย

                ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและส่งออกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ปัจจุบันพบว่าชีวมวลมากกว่า 40 ล้านตันยังไม่ได้รับการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งช่องว่าง (gap) นี้ถือเป็นโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีที่สามารถเปลี่ยนชีวมวลเป็นพลังงาน เคมีภัณฑ์ และวัสดุชีวภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรและผลพลอยได้อย่างมีนัยสำคัญ

                ศาสตราจารย์ วิม ซูทาร์ต (Porf. Wim Soetaert) ซีอีโอของ บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์  กล่าวว่า  บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP)  เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีคุณสมบัติโดดเด่น แตกต่างจากบริษัทอื่นๆที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันเนื่องจาก BBAPP มีพันธกิจในการพัฒนาและขยายขนาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (biobased products) และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน

                ทั้งนี้โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี  หรือ BBAPP มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในระดับขยายขนาดกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับนำร่อง และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ BBAPP ยังช่วยผู้ประกอบการการในวิเคราะห์ความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์ และช่วยในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด ก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน

                ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า  BBEPP และ สวทช. ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์  ในรูปแบบการร่วมทุน (joint venture) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนทั้งในส่วนเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่  โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการก่อตั้งบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์  ในประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562

                ดร.สมวงศ์ ตระกูลรุ่ง ประธานกรรมการบริหาร BBAPP กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของ BBAPP ซึ่งเกิดจากการรวมสิ่งที่ดีที่สุดจากพันธมิตรแต่ละฝ่ายทั้งเงินทุน know-how และความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้ BBAPP ขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน

                สำหรับ BBEPP เป็นผู้ให้บริการระดับโลก (world-class service provider) ในเรื่องการพัฒนากระบวนการ การบริการขยายขนาดการผลิต และการผลิตผลิตภัณฑ์และกระบวนการชีวภาพตามความต้องการของลูกค้า (custom manufacturing) BBEPP มีชื่อเสียงในการดำเนินงานในลักษณะกระบวนการผลิตที่เป็นแบบโมดูล (modular design) ย่อยมาเชื่อมต่อทำงานร่วมกัน ทำให้มีความคล่องตัวในการรองรับกระบวนการแปรรูปชีวมวลจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เทคโนโลยี และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ BBEPP เป็นประโยชน์ที่สำคัญต่อความร่วมมือนี้

                ส่วน สวทช. โดยการลงทุนของรัฐบาลไทย ได้จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนในประเทศไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และความเชี่ยวชาญในส่วนต้นน้ำของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ครอบคลุมการพัฒนาเอนไซม์และผลิตภัณฑ์เอนไซม์จากชีวมวลที่มีอยู่มากมายในประเทศถือเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการร่วมทุน นอกจากนี้สวทช.ยังช่วยสนับสนุนฐานลูกค้าและเครือข่ายภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

                บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์  ประกอบด้วยโรงงานต้นแบบทั้งในแบบ GMP (Good Manufacturing Practice) และ Non-GMP ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน โรงงานต้นแบบ Non-GMP จะสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวเคมี วัสดุชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่โรงงานต้นแบบ GMP จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และโภชนเภสัชภัณฑ์ (nutraceuticals) ครอบคลุมบริการตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ (Upstream process) จนถึงกระบวนการปลายน้ำ (Downstream process) ประกอบด้วยการปรับสภาพชีวมวล (biomass pretreatment) เทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม (การหมักจุลินทรีย์และปฏิกิริยาทางชีวภาพ: microbial fermentation and biocataysis) กระบวนการเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green chemistry) และกระบวนการปลายน้ำ (downstream processing) เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบชีวมวลที่มีมูลค่าต่ำให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงหลากหลายประเภท

                ปัจจุบันบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์  อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ 2567