สภานโยบายการอุดมศึกษาฯเคาะมาตรการยกเว้นภาษีสนับสนุนการวิจัย 300% อีก 5 ปี

News Update

วันนี้ (11 เมษายน 2565) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสรุปวาระสำคัญคือ ที่ประชุมเห็นชอบให้ต่อเวลาและปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 300% ต่อไปอีก 5 ปี (2566-2570) หลังจากที่การสนับสนุนสิ้นสุดลงในปี 2562

            ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563-2564 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเอกชนยังคงคาดหมายว่ามาตรการดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2562 มีมูลค่าของโครงการที่ได้รับการรับรอง 1,855.35 ล้านบาท คิดเป็น 1.24% ของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งภาคเอกชนต้องยื่นขอการรับรองโครงการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 รูปแบบ คือ Pre-Approval ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ Self-Declaration ได้รับการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และขึ้นทะเบียนใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี โดย สวทช. เสนอให้ปรับเพดานมูลค่าโครงการจาก 3 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท ในช่วงที่ขยายออกไป 5 ปี เนื่องจากบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่มักสนใจขอการรับรองแบบ Self-declaration ซึ่งขนาดโครงการมักจะสูงกว่า 3 ล้านบาท และเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 94%

            ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกสว. สวทช. และ สอวช. ไปดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมกับปรับรูปแบบมาตรการการขยายผลในวงกว้าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เอกชน เพิ่มหน่วยงานรับรองโครงการ และการบูรณาการมาตรการข้ามกระทรวงเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังให้เพิ่มหน่วยงานรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงที่จัดตั้งหรือแบ่งส่วนงาน หรือหน่วยงานให้ทุนตามที่สภานโยบายฯ กำหนด และให้เพิ่มเติมเมื่อภาคเอกชนสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจพัฒนากำลังคนด้าน ววน. หรือกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ให้อยู่ในเงื่อนไขของการใช้มาตรการดังกล่าวได้

            นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอแต่อยากเพิ่มให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพราะเห็นประโยชน์และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนทำให้ราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตนจะไปติดตามเรื่องที่เสนอมาในนาม อว. ซึ่งการวิจัยและนวัตกรรมโดยมีเงื่อนไขต้องลงทุนและมีระยะวลา จึงขอกลับมาพิจารณาอีกครั้งและจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน

            ขณะที่ (ร่าง) กฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่ง พ.ร.บ. กำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 โดยร่างกฎหมายลำดับรองมีทั้งร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างประกาศและหลักเกณฑ์สภานโยบายฯ และร่างระเบียบ/ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม (กสว.) ซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐ ตามกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กำหนดลักษณะการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่และไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าว โดยการให้ทุนที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นั้นต้องเป็นการใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน กองทุนส่งเสริม ววน. และกองทุนหรือทุนหมุนเวียนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ส่วนการให้ทุนที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายนี้คือ การให้ทุนการศึกษาที่มีเงื่อนไขให้ทำการวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งการให้ทุน รวมถึงการให้ทุนที่มีการจ้างที่ปรึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และการให้ทุนแบบอื่นตามที่หน่วยงานกำหนดโดยความเห็นชอบของ กสว.

           นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาดาวเทียมวิจัยและสำรวจดวงจันทร์โดยคนไทยเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของชาติ ตามแผนขับเคลื่อนเป้าหมายอวกาศไทย โดยขอรับงบงบประมาณสนับสนุนดาวเทียม TSC-2 รวม 1,050 ล้านบาท (สนับสนุนโดยภาครัฐ 950 ล้านบาท และภาคเอกชน 100 ล้านบาท) และมอบหมายให้ สกสว.นำเสนอ กสว.พิจารณาอนุมัติกรอบการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้แบบต่อเนื่องหลายปีตามมติของสภานโยบาย ทั้งนี้ โครงการ TSC อยู่ในระหว่างการเฟ้นหา ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระภาครัฐและเพื่อบ่มเพาะ ระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศไทย โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้สื่อสารประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชนว่าคนไทยและประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากโครงการดังกล่าว