ความท้าทายของ solar supply chain เมื่อโลกมุ่งสู่เป้าหมาย net zero

New Energy

ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมากทั่วโลก ตามเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศหรือองค์กรภาคธุรกิจทั่วโลกได้ตั้งไว้
          องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) คาดว่ากว่า 95% ของการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ภายในปี 2026 จะเป็นการลงทุนในพลังงานสะอาด ซึ่งกว่าครึ่งจะเป็นกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี solar photovoltaic (solar PV) เป็นหลักโดย BloombergNEF ประมาณการว่าในปี 2022  กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จากโซลาร์จะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา 2.5 เท่า คิดเป็นราว 200 GW  และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
            ราคาแผงโซลาร์มีแนวโน้มที่จะถูกลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาต่อ 1 วัตต์ในปัจจุบันลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของราคาเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ 1) การเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทำให้แผงโซลาร์ที่ออกขายในท้องตลาดมีประสิทธิภาพดีขึ้นอยู่เสมอ และ 2) การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่ของโลกจนทำให้ตลาดแผงโซลาร์อยู่ในสภาวะ oversupply กดดันให้ราคาปรับลดลง


          ปัจจุบัน กำลังการผลิตส่วนใหญ่ของห่วงโซ่อุปทานแผงโซลาร์อยู่ในประเทศจีน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสนับสนุนอย่างมากของรัฐบาลจีนทั้งในระดับประเทศ มณฑล และท้องถิ่น ทั้งการให้ที่ดินสร้างโรงงาน การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้เงินอุดหนุนอื่น ๆ รวมไปถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อมาช่วยสร้าง know-how ของอุตสาหกรรม ทั้งในด้านฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานและในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนการผลิต เช่น การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเซลล์จาก multi-crystalline เป็น mono-crystalline ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการประกอบแผง เช่น การประกอบแบบ Bifacial อีกทั้ง มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ส่วนแบ่งตลาดของจีนขยายตัวอย่างมากจากราว 8% ของกำลังการผลิตแผงโซลาร์โลกในปี 2005 เป็น 70% ในปี 2019 โดยหากนับกำลังการผลิตที่รวมโรงงานบริษัทสัญชาติจีนในต่างประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซียแล้ว ส่วนแบ่งการตลาดจะยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ จีนยังครองส่วนแบ่งตลาดของส่วนประกอบและวัตถุดิบต้นน้ำของการผลิตแผงโซลาร์ทั้งห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย
          อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานนั้นมีความแตกต่างกัน ในช่วงต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานโซลาร์เริ่มจากการนำแร่ควอตซ์มาผ่านกระบวนการให้ได้เป็นซิลิกอนความบริสุทธิ์สูง 98% หรือ metallurgical-grade silicon จากนั้นผ่านกระบวนปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้ซิลิกอนที่มีความบริสุทธิ์สูงขึ้นอีกเป็น 99.999% หรือสูงกว่า (ซิลิกอนที่ใช้สำหรับชิปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะมีความบริสุทธิ์ที่สูงกว่า โดยสูงถึง 99.9999999%) ได้เป็น polysilicon ซึ่งในขั้นตอนถัดมา polysilicon จะถูกขึ้นรูปใหม่ ให้เกิดการจัดเรียงโครงสร้างผลึกและได้คุณสมบัติในการเป็นสารกึ่งตัวนำหรือ semiconductor  ได้เป็น ingot ซึ่งจะถูกตัดสไลด์เป็นแผ่น wafer บาง ๆ ด้วยเลื่อยที่ถูกดีไซน์มาเป็นพิเศษ จากนั้น wafer จะถูกตรวจสอบคุณภาพและทำความสะอาดอย่างเข้มงวดเพื่อเข้าสู่กระบวนการ fabrication เพื่อผลิต solar cell ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่สร้างชั้นผิวให้มีคุณสมบัติตามต้องการ เช่น ลดการสะท้อนแสงอาทิตย์และเกิดโครงสร้างอะตอมที่เหมาะกับปฏิกิริยาทางไฟฟ้าเคมีที่อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ได้สะดวก  โดยโซลาร์เซลล์ที่ได้จะถูกนำไปเรียงต่อกันเป็นวงจรและประกอบเป็นแผงโซลาร์ในที่สุด จะเห็นได้ว่ากระบวนการผลิตของโซลาร์แต่ละขั้นตอนนั้นมีความซับซ้อนที่แตกต่างกันไป เป็นผลให้การเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงต้น กลาง และปลายน้ำนั้นใช้เวลาต่างกัน โดยการเพิ่มกำลังการผลิตช่วงปลายน้ำที่เป็นการประกอบแผงโซลาร์ใช้เวลา 3-6 เดือน ขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตช่วงต้นน้ำอย่างการผลิต polysilicon ใช้เวลานานกว่ามากจากกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน โดยใช้เวลา 18-24 เดือนในการก่อสร้าง และใช้เวลาปรับการผลิตให้เข้าที่อีก 3-6 เดือนจึงจะผลิตได้ตามแผน

cof


            เมื่อกำลังการผลิตต้นน้ำอย่าง polysilicon ขยายตัวได้ช้ากว่าความต้องการใช้แผงโซลาร์จึงเกิดสภาวะคอขวดในห่วงโซ่อุปทานขึ้น เป็นผลให้ราคาของ polysilicon ซึ่งคิดเป็นต้นทุนราว 20% ของการผลิตแผงโซลาร์ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาเฉลี่ยในปี 2021 สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 195% เมื่อราคาสูงขึ้นมากจึงต้องมีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานโซลาร์ เป็นผลให้ราคาแผงโซลาร์ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกโดยราคาเฉลี่ยในปี 2021 ปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 20% และจะคงระดับราคาไว้จนกว่าสภาวะคอขวดจะคลี่คลายในช่วงปี 2023 ซึ่งการที่ราคาแผงโซลาร์ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนในการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์โดยเฉพาะในบางตลาดที่อ่อนไหวต่อราคา จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนถึงแรงกดดันจากความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน (decarbonization) บนห่วงโซ่อุปทานโซลาร์ที่ต้องขยายให้ทันกับความต้องการใช้แผงโซลาร์ซึ่งเติบโตอย่างมากทั่วโลก
            นอกจากนี้ กำลังการผลิตวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องนั้นจำเป็นที่จะต้องขยายตัวให้ทันกับความต้องการใช้แผงโซลาร์ และคลีนเทคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยในช่วงปี 2021 ราคาวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์ เช่น กระจก อะลูมิเนียม และเงิน คิดเป็นต้นทุนราว 16%, 11% และ 7% ของการผลิตแผงโซลาร์ตามลำดับ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตนั้นมีปัจจัยกดดัน เช่น ความกังวลด้านราคาพลังงานและมาตรการด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มที่จะเข้มข้นเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในกลุ่มผู้ผลิตในและนอกจีน เนื่องจากการผลิตวัตถุดิบเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก

          ทั้งนี้ บริษัท McKinsey & Company คาดว่า ความต้องการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น (energy transition) มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมาก ตามการใช้โซลาร์และคลีนเทคอื่น ๆ ที่จะเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเหมืองแร่จึงต้องเผชิญความท้าทายที่นอกจากจะต้องปรับปรุงการดำเนินการทางธุรกิจขุดเหมืองแร่ให้สะอาดขึ้นแล้ว ยังต้องเร่งขยายอุปทานให้ทันกับอุปสงค์ด้วย ตัวอย่างเช่น แร่หายากอย่าง Tellurium ที่ใช้ในการผลิตแผงโซลาร์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ราว 500 ตัน และเป็น by-product จากการถลุงแร่ทองแดง การจะเพิ่มปริมาณแร่ดังกล่าวจึงไม่ได้ขึ้นไปตามความต้องการใช้แผงโซลาร์ แต่เป็นการเพิ่มอุปทานทองแดงที่ต้องเร่งพัฒนาให้ได้ปริมาณ Tellurium ออกมามากขึ้น หรือเป็นการหาแร่ชนิดอื่นทดแทน เป็นต้น
            การเร่งทำตามเป้าหมาย net zero ที่เกิดขึ้นทั่วโลกกำลังสร้างแรงกดดันให้ทุกห่วงโซ่อุปทานไม่เว้นแม้แต่ห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์ ดังนั้น ประเทศหรือภาคธุรกิจที่พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก่อนย่อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของตลาด กฎระเบียบ รวมถึงด้านข้อจำกัดของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะวัตถุดิบบางชนิดที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น อีกทั้ง อาจยังมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนในการปรับตัวที่น้อยกว่าคู่แข่งเมื่อโลกในอนาคตจะมีเงื่อนไขด้านการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น         

ขอขอบคุณผู้เขียน: อภิญญา อักษรกิจ (เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565)