วช.จับมือ 20 หน่วยงาน ขับเคลื่อนโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”

News Update

วช.-อว.  ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Quick Wins   “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”   จับมือ 20 หน่วยงาน สร่างกลไกเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย

        วันนี้(31 มีนาคม 2564)ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)   จัดงานแถลงข่าวนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”  โดยมีศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  เป็นประธานในการแถลงข่าว และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือแสดงเจตจำนงในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ ฯ  จาก20 หน่วยงาน พร้อมชมนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และนิทรรศการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง

        ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก  กล่าวว่า “ เดิมเรามองผู้เกษียณอายุ หรือผู้สูงวัยเป็นปัญหา เป็นตุ้มถ่วงสังคม แต่ผู้สูงวัยก็เต็มไปด้วยปัญญา และมีประสบการณ์ ปัจจุบันเรากำลังจะเปลี่ยน คนในวัย Yold (วัยเริ่มแก่)  ให้มาเป็นพลัง ซึ่งในวันนี้มี  20 หน่วยงานมาร่วมมือกัน แสดงให้เห็นว่าการที่จะเปลี่ยนคนเกษียณให้เป็นพลัง มีกระบวนการมีรายละเอียดมีข้อปลีกย่อยจำนวนมาก ทั้งเรื่องของสุขภาพ การเรียนรู้ และการเข้ากับคนรุ่นต่าง ๆ ได้   ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของจิตวิทยาที่จะทำยังไงให้คนวัยดังกล่าว คิดในเชิงบวก และทำยังไงให้คนวัยอื่นๆ  เห็นว่าคนในวัย Yold  มีประโยชน์  รวมถึงสังคมจะต้องฝึกให้ทุกคนเห็นว่าคนทุกวัยมีความหมายทั้งหมด”

        ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า  ยุทธศาสตร์ Quick Wins เรื่อง “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” เป็นนโยบายสำคัญกระทรวงอว. ซึ่งมอบหมายภารกิจให้ วช.  ดำเนินการเพื่อสร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย   โดยคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้ได้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม  

        ทั้งนี้กลยุทธ์การขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ในปี 2564 วช.จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ และสร้าง Platform โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ  ส่วนในปี 2565 จะมุ่งเน้นการขยายผลให้ครอบคลุม โดยเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เสริมทีมสร้างโอกาส เพิ่มความยั่งยืน โดยหน่วยงานขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลภาพรวม และในปี 2566 เป็นการผลักดันให้เกิดผล โดยการเพิ่มทักษะอื่นๆ ในการพัฒนาให้เกิดศักยภาพ ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพใหม่สำหรับผู้สูงอายุ โดยการดำเนินงานมีกลไกขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” และการขับเคลื่อนจากหน่วยงานความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”

         “วช. ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน“เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่ มีทักษะสำหรับสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยการเสริมสร้างและเติมพลังสู่ผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีการดำเนินงานในลักษณะความร่วมมือระหว่าง วช. และหน่วยงานความร่วมมือ 20 หน่วยงานประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”