สุดยอดเยาวชนไทย ! คว้า 6 รางวัล จากเวทีประกวดโครงการวิทย์ระดับโลก Regeneron ISEF 2021

News Update

ร่วมแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทย คว้า 6 รางวัลใหญ่จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Virtual Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF 2021)

               กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยคว้า 6 รางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Virtual Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF 2021) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม 2564 โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,834 คน จาก 64 ประเทศ รวมถึง 49 มลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา

               ทั้งนี้เยาวชนไทยสามารถคว้าชัยรางวัลใหญ่แกรนด์อวอร์ด (Grand award) มาได้ถึง 4 รางวัล และรางวัล รางวัลสเปเชียล อวอร์ด อีก 2 รางวัล  

               โดยรางวัลแกรนด์อวอร์ด ที่เยาวชนไทยได้รับประกอบด้วย

               1.รางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ (Computational Biology and Bioinformatics)  ได้แก่ “โครงงานการประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อทำนายฤทธิ์ทางชีวภาพของลิแกนด์ในกระบวนการค้นหายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอด สำหรับโมเลกุลเป้าหมาย EGFR”  พัฒนาโดยนายณัฐกันต์ แสงนิล และนายภูริ วิรการินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ และนายธนศานต์ นิลสุ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์  ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ

               โครงงานนี้ถูกพัฒนาจากที่ปัจจุบันโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นในคนเอเชียโดยเฉพาะคนไทยซึ่งการวินิจฉัยและกระบวนการค้นหาและพัฒนายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอดต้องใช้เวลาและต้นทุนค่อนข้างสูงและยังมีความเสี่ยงต่อข้อผิดพลาดในระหว่างการค้นหายาและประสิทธิภาพของตัวยาในระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในแง่ของการรักษาให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ผู้พัฒนาสนใจพัฒนาโมเดลสำหรับการทำนายค่า pIC50 ของ ลิแกนด์ในกลุ่มตัวยับยั้งโปรตีนไคเนส (Kinase inhibitor) เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการค้นหาและพัฒนายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอด โดยโมเดลดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากกระบวนการค้นหาและพัฒนายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอดซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกและลดความเสี่ยงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด และยังสามารถนำโมเดลไปพัฒนาต่อยอดในการค้นหายารักษาโรคอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย

               2.รางวัล Grand Awards อันดับ 2 สาขาเคมี ( Chemistry )ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบไอออนโลหะหนักชนิดกระดาษ” พัฒนาโดย นายกิจการ นำสว่างรุ่งเรือง นายดวิษ บุญยกิจโณทัย และนายธิติ เถลิงบุญสิริ อาจารย์ที่ปรึกษา คือ ดร.สุรนันท์ อนันตชัยศิลป์ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์    ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ     

               โครงงานดังกล่าวเป็นการคิดค้นเครื่องมือตรวจสอบไอออนโลหะหนักชนิดกระดาษ โดยอาศัยหลักการการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของเซนเซอร์สารอินทรีย์กับไอออนโลหะหนัก ทำให้สามารถเห็นสีของสารเชิงซ้อนได้ด้วยตาเปล่า เพื่อเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรและชาวสวน โดยอุปกรณ์ประกอบด้วยเซนเซอร์สารอินทรีย์ และเทมเพลตกระดาษซึ่งเป็นฐานบรรจุเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับไอออนโลหะหนัก ช่วยให้เกษตรกรและชาวสวนสามารถใช้ชุดเครื่องมือได้จริงในพื้นที่ ใช้เวลาอันสั้นในการทดสอบและมีราคาถูก โครงงานนี้ มีแผนในการต่อยอดให้มีเซนเซอร์ตรวจสอบไอออนชนิดอื่นอีกได้ รวมทั้งยังอาจออกแบบปรับปรุงพื้นผิวกระดาษเพื่อให้สามารถวัดความเข้มข้นของไอออนโลหะหนักได้ละเอียดขึ้นอีกด้วย

               3.รางวัล Grand Awards อันดับ 4  สาขาสัตวศาสตร์ ( Animal Sciences)  ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาการเพาะเลี้ยงด้วงเต่าต้นแบบสู่การควบคุมแมลงศัตรูพืช” พัฒนาโดยนางสาววรินยุพา งานเจริญวงศ์ ด.ญ. นัยน์ปพร กำหอม และ ด.ช. ธนกร ศิลาพันธุ์ อาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายอัครวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง)   ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ  โครงงานนี้เป็นการศึกษาจากปัญหาของด้วงเต่าลายหยักที่พบในพื้นที่เกษตรกรรมท้องถิ่น และมีประโยชน์ในการห้ำ (การกิน) แมลงศัตรูพืชได้มากที่สุดในธรรมชาติมีจำนวนน้อยลง จึงเกิดแนวคิดในการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงด้วงเต่าลายหยักให้มีจำนวนมากขึ้นและปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ   

               4.รางวัล Grand Awards อันดับ 4  สาขาชีวการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ( Biomedical and Health Sciences)  ได้แก่ “โครงงาน “นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต เเละค่ากรดเบส สู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน” พัฒนาโดยนายพัฒฒ์ พฤฒิวิลัย นายกฤษฏิ์ กสิกพันธุ์ และนายกรวีร์ ลีลาอดิศร อาจารย์ที่ปรึกษา คือ ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ

               โครงงานนี้ศึกษาภาวะกระดูกพรุนซึ่งนับเป็น “มฤตยูเงียบ” เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนนั้นจะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ผู้พัฒนาจึงมีความต้องการที่จะประดิษฐ์ “นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการตรวจวัดแคลเซียม ฟอสเฟต และ pH สู่การบ่งชี้แนวโน้มภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน” ด้วยวิธีการ Self-Assessment แบบ Non-Invasive โดยนวัตกรรมแผ่นแปะชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันนี้ จะทำงานโดยการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณเเคลเซียม ฟอสเฟต เเละ ค่ากรดเบส แล้วนำผลไปสู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน  โครงงานนี้ยังมีแผนงานต่อยอดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อที่จะสามารถประมวลผลการทดสอบเชิงสีของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต และ ค่ากรดเบส ได้อย่าง real-time/ simultaneous เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานชุดทดสอบมากยิ่งขึ้น

               นอกจากนี้ “โครงงาน “นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต เเละค่ากรดเบส สู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน”  ยังสามารถคว้ารางวัลสเปเชียล อวอร์ด  อันดับ 1 (Special Award)   สาขา Life Sciences มาครองได้อีก 1 รางวัล   จาก Sigma Xi, The Scientific  Research Honor Society   

                ส่วนรางวัลสเปเชียล อวอร์ด อีกหนึ่งรางวัลคือ รางวัลสเปเชียล อวอร์ด อันดับที่ 3 จาก The American Chemical Society ผลงานสาขาเคมี ในหัวข้อ “รงควัตถุดัดแปรคลอโรฟิลล์จากสารสกัดของวัชพืชเพื่อเป็นสีย้อมไวแสงอินทรีย์สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง : การศึกษาขั้นต้นในเชิงการดัดแปรโครงสร้าง” โดยนายสพล ไม้สนธิ์ , นายเสฏนันท์ ทรวงบูรณกุล และ นายศุภวิชญ์ พรหมโคตร  จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง  โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นางสาวประสงค์พร เรืองพีระศิริ และอาจารย์ที่ปรึกษาพิเศษ นายพัฒนนาวี นาเลาห์   

               ดร.ณรงค์  ศิริเลิศวรกุล   ผู้อำนวยการ สวทช.  กล่าวว่า การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก “Virtual Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF 2021)” ถือเป็นเวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์มาสร้างสรรค์เป็นผลงานผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่การเป็นนักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

               “ในนามของ สวทช. ขอแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้งกับการคว้า 6 รางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปมีใจรักและสนใจวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ และในอนาคตจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวต่อไป” ดร.ณรงค์ กล่าว

               ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการอพวช. กล่าวว่า   “อพวช.  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สวทช.  ได้ผนึกกำลังส่งตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีดังกล่าว  ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 – 21 พฤษภาคม 2564 โดยเป็นการจัดการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์  โดยปีนี้ไทยได้ส่งทีมเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม   เวทีนี้ถือเป็นเวทีแข่งขันสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่จะสร้างศักยภาพเด็กไทยให้เป็นที่ประจักษ์สู่เวทีระดับโลก”

               ด้าน รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยในครั้งนี้ว่า “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลทุกคน รวมทั้งเยาวชนทุกทีมที่ได้เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจและความสามารถ ซึ่งถือว่าทุกคนได้ทำเต็มที่แล้ว ถึงแม้อาจจะพลาดรางวัลแต่ขอให้ทุกคนได้เก็บประสบการณ์และผลงานในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราต่อไปในอนาคต”