กทปส. หนุนงบ 1.18 พันล้านบาทยกระดับสุขภาพคนไทยด้วยเฮลท์เทค

News Update

กทปส.  หนุนคนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขเท่าเทียมในสถานการณ์โควิด-19 อัดฉีดทุนวิจัย 1.18 พันล้านบาทแก่ 322 สถานพยาบาลทั่วไทย พัฒนา “เฮลท์เทคสู้โควิด-19” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนสถานพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ ต่อสู้สถานการณ์ COVID-19”  

             นายนิพนธ์  จงวิชิต  ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์หรือวิกฤตสุขภาพ “โควิด-19” ได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการรักษาความสะอาด คือ “เฮลท์เทค” (Health Tech) นวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจรักษา  พร้อมรองรับการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ตลอดจนประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นในช่วงวิกฤตดังกล่าว กทปส. ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงเดินหน้าดำเนินโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนสถานพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ ต่อสู้สถานการณ์ COVID-19” ภายใต้งบประมาณ 1.18 พันล้านบาท ครอบคลุมสถานพยาบาลทั่วไทยรวม 322 แห่ง

             นายนิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับสถานพยาบาล ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ประกอบด้วย สถานพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ ใน 13 เขตสุขภาพ ตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้พัฒนานวัตกรรม “เฮลท์เทคสู้โควิด-19” เพื่อรองรับผู้ป่วยหรือเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนสามารถนำไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้ในระยะยาว โดยไฮไลท์นวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น  นวัตกรรมห้องความดันลบด้วยระบบ IoT  ห้องที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการตรวจวินิจฉัย ที่ได้รับการปรับปรุงจากห้องผู้ป่วยเดิม ผ่านการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาเชื่อมต่อในห้องความดันลบ ที่มาพร้อม 3 เซนเซอร์ตรวจวัดสำคัญ ได้แก่ เซนเซอร์อุณหภูมิ เซนเซอร์ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ และเซนเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ของอากาศ   พร้อมแสดงผลผ่าน Freeboard NETPIE นอกจากนี้ ยังมีระบบ Teleconference สำหรับการวินิจฉัยโรคระหว่างคณะแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้ ห้องความดันลบดังกล่าว สามารถพัฒนาและติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 45 วัน

             นอกจากนี้ยังมีระบบ CT Scan คัดกรองผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี AI  และ 5G การวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี AI และ 5G ช่วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำใน 10 วินาที อีกทั้งยังรายงานผลการตรวจอัตโนมัติใน 30 วินาที  ซึ่งรวดเร็วกว่าวิธีการปกติถึง 6 เท่า   โดยในอนาคตอันใกล้ เตรียมนำร่องใช้จริง ณ สถานพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยอาการผู้ป่วยเป็นลำดับต่อไป

             และระบบ Teleconference ให้คำปรึกษาโรงพยาบาลเครือข่าย  ซึ่งแม้หน่วยงานสาธารณสุข/อนามัยชุมชน จะกระจายครอบคลุมทุกเขตสุขภาพแล้ว แต่ในแง่ของการได้รับการรักษาพยาบาลในภาคประชาชน ยังมีข้อจำกัด อันเนื่องมาจากความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น การมีระบบ Teleconference ระบบประชุมทางไกล สำหรับให้คำปรึกษาโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ได้รับทุนจาก กสทช. 20 แห่งทั่วประเทศ เข้ามาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ณ สาธารณสุข/อนามัยชุมชน กับ โรงพยาบาล จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลเขตเมือง 

             อย่างไรก็ดี กทปส. มุ่งผลักดันการพัฒนา “นวัตกรรมหรืองานวิจัย” ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรด้านการสื่อสาร อาทิ เครือข่ายอัจฉริยะ 5G เทคโนโลยีเอไอ (AI) ไอโอที (IoT) และอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนในหลากมิติ สู่การลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงระบบ/บริการสาธารณะของประเทศเต็มประสิทธิภาพ อันสอดคล้องกับ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในมาตรา 52 (1) ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง และ มาตรา 52 (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย