“หอมเลน้อย” ข้าวเจ้าหอมนุ่ม ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรชาวนาภาคใต้

ออนไซต์-ในสนาม

“หอมเลน้อย (Hom Lay Noi)” เป็นข้าวเจ้าหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะนาลุ่มภาคใต้ที่มีวิถีการทำนาริมเล สนับสนุนการฟื้นและสืบสานวัฒนธรรมการทำนาของคนใต้ เป็นการบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อน BCG สาขาเกษตร โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับ กรมการข้าว และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

               น.สพ. ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อน BCG สาขาเกษตร ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดเลือกพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี จ.ลำปาง จ.ขอนแก่น จ.จันทบุรี และ จ.พัทลุง เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในลักษณะของการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ด้วยความร่วมมือ Public-Private-People-Professional partnership (4P) ระหว่างกลุ่มเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ พื้นที่ จ.พัทลุง เป็นแหล่งผลิตข้าวของภาคใต้ และข้าวสังข์หยด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัด ตลอดจนมีพื้นที่พิเศษ วิถีทางการเกษตรข้าวริมเล มรดกภูมิปัญญาทางการทำนาของชุมชนที่สามารถผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สำคัญของจังหวัด การนำ “BCG Model” ที่มีการบูรณาการตลอดห่วงโซ่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จะทำให้เกิดรายได้จากการผลิต การแปรรูป และการใช้วัสดุที่เหลือเพื่อพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นในเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งการท่องเที่ยวของจังหวัดในอนาคต

               ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ (Excellence)  ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ และมีทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ที่เป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีด้าน DNA Markers Assisted Breeding ที่สามารถออกแบบพันธุ์พืชตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์ และสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดผลกระทบสูง (Impact) ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม สร้างความเข้มแข็งจากภายในชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน พันธุ์ข้าวเจ้า “หอมเลน้อย” เป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยของไบโอเทค สวทช. ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากของภาคใต้

               ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการ ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และหัวหน้าทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไบโอเทค กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ เทคโนโลยีด้าน DNA Markers Assisted Breeding ให้กับหน่วยงานในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยในปี 2556 ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ ความร่วมมือการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนาชลประทานให้ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือก ร่วมกับกรมการข้าว โดยมี ดร.วัชรีวรรณ แจ่มบุญศรี นักวิจัยไบโอเทค เป็นหนึ่งในทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง ผลผลิตสูง สายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยใช้ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นฐานพันธุกรรม  คัดเลือกสายพันธุ์จนได้ต้นแบบสายพันธุ์ข้าวระดับห้องปฏิบัติการ ที่เป็นข้าวเจ้าหอม พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จากนั้นได้รับทุนวิจัยต่อยอดจาก สวทช. เพื่อปลูกประเมินลักษณะทางการเกษตรและทดสอบผลผลิตในสถานีและแปลงเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ จนได้พันธุ์ข้าว “หอมเลน้อย” ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 800-900 กิโลกรัม/ไร่ มีความเสถียรทั้งผลผลิตและคุณภาพ อยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

               ด้าน ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัยไบโอเทค ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วม ทนเค็ม และให้ผลผลิตสูง ให้ข้อมูลต่อไปว่า ได้รับโจทย์งานวิจัยจาก ดร.กัญญณัช  ศิริธัญญา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนักวิจัยจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ถึงปัญหาวิถีการปลูกข้าวนาริมเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวลดลงอย่างมาก ทีมวิจัยฯ เล็งเห็นความสำคัญในการฟื้นวัฒนธรรมวิถีการทำนาริมเล โดยเริ่มนำสายพันธุ์ข้าวที่ปรับตัวได้ดีในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทนน้ำท่วมฉับพลัน และมีคุณสมบัติการหุงต้มที่ดี ไปทดลองปลูกในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าข้าวพันธุ์ “หอมเลน้อย” มีความสูง 120 เซนติเมตร ลำต้นแข็งแรงสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพนาริมเลที่มีคลื่น โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันชุมชนและเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวพันธุ์ กข55 ซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็ง แต่ผู้บริโภคในภาคใต้ให้ความสนใจบริโภคข้าวหอมนุ่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

               ดังนั้น “ข้าวหอมเลน้อย” ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรชาวนาภาคใต้ที่สนใจผลิตข้าวนุ่มคุณภาพดี โดย ทีมวิจัยฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  และหน่วยงานกรมชลประทาน วางแผนบูรณาการยกระดับการผลิตข้าวในพื้นที่ภาคใต้บนวิถีความมั่งคงทางอาหาร ด้วย “BCG Model” ก่อให้เกิดรายได้ทั้งด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งในโอกาสนี้ได้จัดงานเสวนา “งานวิจัยข้าวนาเลสู่การฟื้นวัฒนธรรมการผลิตข้าววิถีปักษ์ใต้” โดยมีหน่วยงานและเกษตรกรในท้องถิ่นเข้าร่วมมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เป็นต้น

               คุณสายันต์ รักดำ ประธานกลุ่มปลูกข้าวริมเล บ้านปากประ กล่าวว่า ทางชุมชนมีวัฒนธรรมการปลูกข้าวนาริมเล เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมทะเลสาบในช่วงหมดฤดูฝน โดยเริ่มปลูกข้าวต้นเดือนมิถุนายนซึ่งน้ำในทะเลสาบลดระดับ แล้วเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี พันธุ์ข้าวที่เจริญเติบโตในบริเวณนี้ต้องสามารถยืนต้นสู้กับกระแสคลื่นของทะเลสาบได้ ผลผลิตข้าวที่ได้เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์อย่างแท้จริงเนื่องจากไม่มีการใส่ปุ๋ยระหว่างการปลูก การทำนาใช้เพียงเมล็ดพันธุ์และแรงงานเท่านั้น วิถีการปลูกข้าวริมเลเริ่มจางหายไปตามรุ่นอายุของเกษตรกร ปัจจุบันชุมชนได้เริ่มรื้อฟื้นวัฒนธรรมการปลูกข้าวริมเลให้ฟื้นกลับมาใหม่ ข้าวที่ออกดอกบริเวณริมทะเลสาบถือเป็นภาพที่สวยงามดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยือน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรที่มีทั้งการทำการประมง การเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีการเกษตรปักษ์ใต้

                “ข้าวหอมเลน้อยจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่คาดหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมการผลิตข้าวปักษ์ใต้ ยกระดับความมั่นคงทางอาหาร สร้างเศรษฐกิจชุมชมเข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”