GISTDA จับมือญี่ปุ่นเดินหน้าจัดตั้งศูนย์พยากรณ์อวกาศของประเทศไทย

News Update

เมื่อวานนี้ (6 ตุลาคม 2565) ณ ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และสถาบันข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสารแห่งชาติ หรือ National Institute of Information and Communications Technology หรือ NICT โดย ดร. Naoto Kadowaki ประธาน NICT ลงนามความตกลงเพื่อการวิจัยร่วมกันด้านวิจัยพยากรณ์ การตั้งศูนย์วิจัยพยากรณ์อวกาศของประเทศไทย หรือ Thailand Space Weather Forecast Center และหารือเกี่ยวกับแผนความร่วมมือ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA และสถาบันข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสารแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น เตรียมร่วมกันจัดตั้งศูนย์พยากรณ์อวกาศของประเทศไทย หรือ Thailand Space Weather Forecast Center ซึ่งจะรวมถึงการติดตามปัจจัยแวดล้อมและความผิดปกติของสภาพอวกาศในประเทศไทย และมีแผนจะขยายการศึกษาเรื่องดังกล่าวไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย นอกจากนี้แล้วยังจะศึกษาผลกระทบของสภาพอวกาศต่อโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การจัดตั้งศูนย์สภาพอวกาศ และการแลกเปลี่ยนนักวิจัยร่วมกัน โดยนักวิจัยของ GISTDA จะเดินทางไปปฏิบัติงานวิจัย ณ NICT ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้

GISTDA และ NICT ได้ดำเนินความร่วมมือด้านสภาพอวกาศมาตั้งแต่ปี 2563 โดยความร่วมมือดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะ GISTDA เท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกับภาคการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการศึกษาสภาพอวกาศในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา NICT ได้จัดส่งและช่วยติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการสำรวจสภาพอวกาศ ณ ประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้เกิดกรอบการทำงานด้านการวิจัยที่ชัดเจน จึงได้จัดทำความตกลงเพื่อการวิจัยร่วมระหว่างกัน

ผอ.GISTDA กล่าวต่อว่า สภาพอวกาศสามารถสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมประชาชนหลายด้าน เช่น การสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียม การรบกวนระบบนำร่อง (GPS) การสื่อสารของระบบอากาศยาน และการสร้างความเสียโรงงานไฟฟ้า เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบพยากรณ์อวกาศเพื่อเตือนภัยเหล่านี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยก้าวกระโดดการเพิ่มขีดความสามารถเทคโนโลยีอวกาศและศักยภาพการป้องกัน และบรรเทาภัยจากสภาพอวกาศให้กับประชาชนชาวไทย