นักวิจัยไทยย้ำการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยปกป้องผลงานและสร้างโอกาสในการขยายสู่ตลาดโลก

News Update

นักวิจัยไทยย้ำความสำคัญของการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา  ช่วยปกป้องผลงานและสร้างโอกาสในการขยายสู่ตลาดโลกได้  ด้านอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  แนะควรให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

                เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ได้มีการจัดกิจกรรมการเสวนาเรื่อง ” จัดการทรัพย์สินทางปัญญายังไง? ให้สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยบุกตลาดโลก” โดยมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา   พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์  จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นและผู้เชี่ยวชาญในวงการวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ของประเทศไทย ร่วมเสวนา ณ เวทีกลาง อีเว้นท์ฮอลล์ 101 ศูนย์นิทรรศการและการประขุมไบเทคบางนา

               นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์  อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญา คือ ทรัพย์สินที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดมูลค่าและเกิดคุณค่า  ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ เครื่องหมายทางการค้า  ลิขสิทธิ์  และสิทธิบัตร ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเป็นอะไรก็ตามที่เกิดการประดิษฐ์ คิดค้นขึ้นมาใหม่ แล้วมีการจดทะเบียน   ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยเติบโตจากประเทศรายได้น้อยมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง  แม้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามกับดักดังกล่าวได้  ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัย ทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ  ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลกหรือไอเอ็มเอฟ ต่างชี้ตรงกันว่า ประเทศไทยขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่าองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง    ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการที่เราจะต้องมีองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

               นอกจากนี้ยังควรให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่วัยเด็ก ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่ควรเรียนในทุกคณะ  ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วจะสอนให้เด็ก ๆ ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองประดิษฐ์ได้ คิดได้ เป็นสมบัติของตัวเอง และจะให้ความสำคัญกับคนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์อย่างมาก 

               ด้านศาสตราจารย์ ดร.สนอง  เอกสิทธิ์   จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความจำเป็นของการจดทรัพย์สินทางปัญญาในมุมของนักวิชาการว่า นักวิชาการมีหน้าที่หลัก ๆ คือ ผลิตผลงานทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์   ผลงานที่ออกมามีทั้งแบบที่ขายได้และขายไม่ได้  ซึ่งผมนอกจากสอนหนังสือและตีพิมพ์แล้ว มองว่ายังมีผลงานบางชิ้นที่มีโอกาสที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์ นำไปใช้ประโยชน์ได้  เพราะมีความใหม่เชิงวิชาการ  ทำให้เริ่มคิดที่จะมองถึงการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง    

               “ผลงานในส่วนของนักวิชาการอย่างผมจะมี 2 ส่วนหลักคือ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะและเพื่อผลประโยชน์ จากการศึกษาค้นคว้าเชิงลึกของนักวิจัยที่จะนำไปสู่การตีพิมพ์ทางวิชาการนั้น ระหว่างทางก็มีบางสิ่งมีโอกาสที่จะนำไปต่อยอดทางธุรกิจ เช่น การศึกษาการสังเคราะห์วัสดุนาโน รวมถึงศึกษาโครงสร้างซึ่งมีการตีพิมพ์ผลงานต่าง ๆ  แต่ว่าในระหว่างนั้นมีการศึกษาเรื่องกระบวนการผลิตที่ดี มีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยลง หรือมีคุณสมบัติใหม่ เช่น เปลี่ยนสีได้  ซึ่งสิ่งที่เป็นคุณสมบัติเหล่านี้ มีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์จึงต้องแบ่งหมวดองค์ความรู้เหล่านี้ออกมา เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการจดสิทธิบัตร”

               ศาสตราจารย์ ดร.สนอง   กล่าวอีกว่า มองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนักวิจัย  ซึ่งไม่ว่าจะสามารถสร้างเงินได้หรือไม่ได้  ผลงานนั้นๆ ก็สามารถทำให้นักวิจัยรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น มีคุณค่าที่สามารถค้นพบอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่น งานวิจัยด้านนาโนของตนเอง ที่ใช้เวลาศึกษาเชิงลึกประมาณ 5 ปี  มีการตีพิมพ์และศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการนำผลงานต่าง ๆ มาเผยแพร่ อย่างเช่นในเวทีของ วช.  ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมต่าง ๆ  ทำให้ภาคเอกชนรู้สึกว่าคนไทยสามารถทำได้  จากสิ่งที่เคยต้องนำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ   จึงคิดว่านักวิจัยจะต้องนำเอาผลงานเหล่านี้ออกมาสู่สายตาประชาชน  ซึ่งก่อนจะเผยแพร่ได้นั้น จำเป็นต้องผ่านการตีพิมพ์ และมีการจดสิทธิบัตร  ซึ่งสิทธิบัตรนั้นนอกจากจะทำให้สามารถปกป้องผลงานของเราได้แล้ว ยังทำให้ไม่เกิดซ้ำซ้อน เพราะนักวิจัยอื่น ๆ ก็ต้องปกป้องผลงานของเขาเช่นกัน   จึงต้องมีการสืบค้นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ซ้ำกับงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำอยู่ก่อนหรือไม่ และที่สำคัญการจดสิทธิบัตร   จะเป็นตัวช่วยให้บริษัทไทยที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ  ขยายตลาดออกนอกประเทศไทย โดยสามารถป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองไว้ได้

               สำหรับการเสวนาดังกล่าว  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566  ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566  ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102  ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา