“ ใช้โกโก้พาคนรักกลับบ้าน สร้างงาน สร้างชุมชนยั่งยืน”“ ประเสริฐ ไกนอก” ผู้ชนะเลิศเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 65

News Update

               มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด  ขอแนะนำเกษตรกรคนเก่ง  “คุณ ต้น-ประเสริฐ ไกนอก” ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว “พาคนรักกลับบ้าน สร้างงานด้วยโกโก้” ผู้ชนะเลิศโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2565 จัดโดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

                “โกโก้ เป็นพืชที่ต่อยอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมโกโก้กว้างมาก ทั้งช็อกโกแลต อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ในขณะเดียวกันต้นโกโก้มีอายุยืนถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นโกโก้จึงเป็นพืชบำนาญที่ เป็นรายได้ในอนาคตให้กับผู้สูงวัยได้”

จุดเปลี่ยนจากคนเมืองเป็นเกษตรกรแบบเต็มตัว

               ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเกือบ 20 ปี ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน จนวันหนึ่งวางแผนจะมีครอบครัว จึงอยากกลับมาอยู่บ้าน อยากมีพื้นที่ให้กับครอบครัว ซึ่งเมื่อกลับบ้านมาแล้วไม่มีงานทำ เงินเก็บที่มีก็ทุ่มไปกับการเริ่มต้นใหม่กับการเกษตร โดยพบว่าตลาดที่เราทำอยู่เป็นตลาดอุตสาหกรรม ซึ่งเกษตรกรไม่มีทางที่จะอยู่เหนือกลไกนี้ได้ เพราะไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ปลูกเสร็จก็ต้องหอบไปขาย ขายเสร็จก็ต้องวิ่งกลับมาปลูก ชีวิตวนอยู่แบบนี้ เหนื่อยกว่าตอนที่อยู่ในเมืองอีก จนวันหนึ่งหันมาสนใจ “โกโก้” นั่นคือจุดเปลี่ยน ที่ทำให้เราได้รู้จักกับผู้ชายคนนี้ ต้น-ประเสริฐ ไกนอก

มองโกโก้ เป็นสินค้าที่คนทั่วโลกรู้จัก

               คุณ ประเสริฐ กล่าวถึงสาเหตุที่มาของการเลือกปลูกโกโก้  ว่า  เนื่องจากมีเพื่อนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ซึ่งมันมีคีย์เวิร์ดอยู่คำนึงคือ “โกโก้บัตเตอร์” หรือ “น้ำมันโกโก้” ผมเลยคิดว่าเราสามารถนำโกโก้มาทำอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้ หรือว่าแปรรูปทำอย่างอื่นได้ แล้วมุมมองโกโก้ ณ ตอนนั้นคือ “โกโก้เป็นสินค้าตัวเดียวที่ทั้งโลกรู้จัก”

               ประเทศไทยเราปลูกโกโก้ได้ ส่วนในยุโรปปลูกไม่ได้แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับใหญ่มาก ยุโรปกินช็อกโกแลต 8 กิโลต่อคนต่อวัน จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลการคัดเลือกวัตถุดิบมาจากที่ใด พบว่ายุโรปกินช็อกโกแลต 8 กิโลต่อคนต่อวัน แต่เขาปลูกไม่ได้

               ข้อดีอีกอย่างของโกโก้คือให้ผลผลิตทุกเดือน ให้ผลผลิตทั้งปี และมีอายุยืนถึง 100 ปีเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นโกโก้จึงเป็นพืชบำนาญที่เป็นรายได้ในอนาคตให้กับผู้สูงวัยได้ เราจึงเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการแปรรูป และการสร้างรายได้จากโกโก้

เป้าหมายการทำงานสู่การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนโกโก้นางั่ว

               ผมสร้างเป้าหมายขึ้นมา 4 ข้อ เพื่อจูงใจผู้นำชุมชน และคนในชุมชน ดังนี้

               1. ต่อยอดอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะอุตสาหกรรมโกโก้กว้างมาก เช่น ช็อกโกแลต อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยารักษาโรค เป็นต้น

               2. เพิ่มคุณค่าคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงวัย ในวันที่มีกำลังวังชา เราทำพืชเลื่อนลอย เรามีแรง เราเก็บเงินได้ แต่วันนึงเราหมดแรง โกโก้จะเป็นพืชบำนาญที่เป็นรายได้ในอนาคตให้กับผู้สูงวัยได้

               3. ลดรายจ่ายสร้างรายได้ โกโก้เมื่อปลูกนานไป มูลค่ายิ่งเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ลดลง

               4. สร้างพื้นที่สีเขียว ลดการปลูกพืชเลื่อนลอย  คุยกับชาวบ้าน และทุกคนที่ให้ความสนใจ จนเกิดการรวมกลุ่มกันได้ 7 คน และเริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนโกโก้นางั่ว ซึ่งผนวกเข้ากัน 2 กลุ่ม ก็คือ กลุ่มโกโก้นางั่ว กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์นางั่ว

บริหารวิสาหกิจชุมชนโกโก้นางั่วอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

               ผมนำ business canvas ซึ่งเป็นพื้นฐานการบริหารทั่วไปมาปรับใช้ ซึ่งผมเรียกว่า 3P

               1. People คือคนในชุมชน ทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าเขามีชีวิตที่ดีไม่เดือดร้อน เขาก็มีกำลังผลิตวัตถุดีๆ ให้กับเรา มีโอกาสสร้างอาชีพ สร้างงาน พาลูกพาหลาน กลับมาอยู่บ้านได้

               2. Profit ก็คือเศรษฐกิจหรือลูกค้า การที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าจากคนในชุมชนของเรา เขามีโอกาสได้ช่วยชุมชน ได้ของดีมีคุณค่า ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของนางั่ว เช่น พาคนรักกลับบ้าน ทำระบบนิเวศ ลดต้นทุนเกษตรกร ฯลฯ ซึ่งมูลค่าเหล่านี้มันมากกว่ารสชาติ และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจมันมั่นคงและยั่งยืนได้ ที่สำคัญเรามีการแบ่งปันกำไรให้คนในชุมชนอย่างเหมาะสม

               3. Planet คือสิ่งแวดล้อม การสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับสิ่งแวดล้อมในชุมชน สร้างประโยชน์จากต้นโกโก้ โดยใช้ระบบนิเวศ

เส้นทางการเป็นเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดของ ต้น-ประเสริฐ ไกนอก

               ต้องยกเครดิตให้กับทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ที่ส่งผมเข้าร่วมโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา จนผมผ่านเข้าสู่รอบ 30 คน และเข้าไปถึงรอบ 10 คนสุดท้าย สิ่งที่ผมได้จากเพื่อน ๆ ที่เข้าประกวดทั้ง 10 คนคือ ทุกคนคือสุดยอดของประเทศไทยในเรื่องของความคิดในการทำงาน ผมนำแนวคิดของแต่ละคนมาปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกลุ่ม และการใช้ชีวิต

               เวทีนี้ทำให้ชื่อเสียงของโกโก้นางั่วเติบโตขึ้น เป็นต้นแบบให้หลายๆ คนที่คิดจะตัดต้นโกโก้ทิ้ง หันกลับมาดูแลต้นโกโก้ และเริ่มแปรรูปโกโก้ต่อ “โครงการของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของโกโก้นางั่วขยายวงกว้างขึ้น ทำให้เกษตรกรเข้าถึงพวกเราได้มากขึ้น” ต้องยกเครดิตให้กับตัวโครงการที่ได้ช่วยสนับสนุนและจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา

               หากท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์โกโก้จากนางั่ว หรือต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการเกี่ยวกับการปลูกและแปรรูปโกโก้ ติดตาม ได้ที่  Facebook : กลุ่มโกโก้ นางั่ว   และ  Facebook : cacao hub