กสทช.ผนึกรัฐ-เอกชน ต่อยอดพัฒนา Mobile ID บนมือถือ

i & Tech

กสทช.ผนึกรัฐ-เอกชน ต่อยอดพัฒนาระบบ Mobile ID บนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการประชาชน คาดเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองการใช้งานในช่วงไตรมาสที่ 2/2564

         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจกรรโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อมาสำนักงาน กสทช.ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำระบบ Mobile ID ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน

         ทั้งนี้ กสทช.จะขยายการทำงานร่วมกันเพิ่มเติมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อทำการทดสอบทดลองในระยะ Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถให้ประชาชนร่วมทดลองการใช้งานในช่วงไตรมาสที่2/2564 ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมทำงานกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA (เอ็ตด้า) และหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาการกำหนดมาตรฐานของการให้บริการในระยะทดสอบทดลองนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งาน Mobile ID ในระยะทดสอบได้ภายในไตรมาสที่ 1/2564

         นายณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TOT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การร่วมโครงการนี้ TOT จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า TOT สามารถใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วย และมีความเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของ TOT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น เช่น การซื้อ SIM Card การย้ายค่ายเบอร์เดิมโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์

         ด้านนายชารัด เมห์โรทรา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคสนับสนุนรัฐบาล และ กสทช. ในการเริ่มพัฒนาการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล ให้ประสบความสำเร็จและใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาเพื่อความมั่นใจในบริการดิจิทัลของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจของดีแทคที่มุ่งสู่ Digital first จึงมองเห็นโอกาสสำหรับการให้บริการดิจิทัลที่สะดวกเพิ่มขึ้น และไว้ใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูลแก่ลูกค้า และยังช่วยให้ลูกค้าลงทะเบียนซิมใหม่หรือรับบริการธุรกรรมอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล การใช้ระบบ Mobile ID จะช่วยลดงานที่ซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตนอีกด้วย

         ส่วนนางสาวกมลวรรณ ศีลาภิรัติ รองผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของ DPA ได้เป็นอย่างดี โดย DPA จะพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับ Mobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า DPA สามารถใช้บริการของ DPA ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอทราบข้อมูลต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ของ DPA และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป