“ดีป้า” โชว์การศึกษารูปแบบใหม่แก่นายกฯ เน้นการเรียนดิจิทัลนอกห้องเรียน

i & Tech

ดีป้า” โชว์การศึกษารูปแบบใหม่แก่นายกรัฐมนตรี มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน ตั้งเป้า ปี 2564-2568 ประชาชนรู้ข้อมูลดิจิทัล 50 ล้านคน พัฒนากำลังคนดิจิทัล 1 ล้านคน และประชาชนมีงานทำ 100,000 ตำแหน่ง

         นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) นำเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) และคณะนักเรียนร่วมออกบูธนิทรรศการ เพื่อนำเสนอผลงานการศึกษาไทยยุค 4.0 ที่มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

         นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า การพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ปีพ.ศ.2561-2564 โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองของประชากรทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ผู้พิการ และทุกระดับความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง ผ่านการส่งเสริมการสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Manpower) รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชากรทั่วไป (Digital Citizen)

         ด้าน ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า ส่งเสริมให้เกิดการศึกษารูปแบบใหม่ที่มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลโดยไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน ซึ่งถือเป็นต้นแบบการศึกษาไทยในยุค 4.0 พร้อมกันนี้ ยังได้พัฒนากำลังคนและทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนใน 3 กระบวนการหลัก ได้แก่ Reskill หรือการเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากร โดยมุ่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง Upskill หรือการยกระดับคุณภาพและความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านดิจิทัลที่อยู่ในอุตสาหกรรม และ New Skill หรือการเพิ่มทักษะใหม่ด้านดิจิทัลสำหรับวัยเรียนและผู้สูงอายุ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

         “ที่ผ่านมา ดีป้า ให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลแก่โรงเรียนทั่วประเทศไปแล้ว 210 โรงเรียน โดยประเมินว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นแหล่งผลิตนักเรียนและเยาวชนมากกว่า 77,000 คน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะครูไปแล้ว 3,811 คน ซึ่งครูกลุ่มนี้จะสามารถส่งต่อความรู้ให้แก่นักเรียนไม่น้อยกว่า 234,000 คน พร้อมกันนี้ ยังได้บูรณาการการทำงานกับพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์ กูเกิล ฯลฯ ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม CodingThailand.org ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน อีกทั้งสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปแล้ว 17 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวไม่น้อยกว่า 100,000 คนในปี 2565”

         สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ และนักเรียนที่ร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. INFOGRAPHIC THAILAND (บริษัท ไลค์ มี จำกัด) จัดแสดงเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ช่วยในการฝึกอบรมพนักงาน ทำให้พนักงานได้ลงมือฝึกปฏิบัติผ่านโลกเสมือนจริงในสถานการณ์จำลองหลากหลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการฝึกปฏิบัติจริง ปัจจุบันนำไปใช้ในการฝึกอบรมช่างไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงแล้วกว่า 200 คน พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะผลิตชิ้นงานด้าน VR, AR (Augmented Reality) และอื่น ๆ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเรียนรู้ และลดความเสี่ยงจากการฝึกปฏิบัติจริง อาทิ VR training เรื่องการทำ CPR หรือ AR แสดงวิธีการช่วยชีวิตเบื้องต้น เป็นต้น

         2. Vonder (บริษัท วอนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด) จัดแสดง Vonder Go เครื่องมือช่วยประเมินผลการเรียนรู้ในห้องเรียนผ่านรูปแบบเกมตอบคำถาม โดยคุณครูสามารถสร้างคำถามให้นักเรียนแข่งขัน หรือร่วมมือกันตอบคำถาม โดยมีระบบจับเวลา และวัดผลอย่างละเอียดเมื่อจบเกม ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่า ช่วงต้นปี 2564 จะเปิดให้คุณครูใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั่วประเทศ   และ 3. ผู้แทนนักเรียนจากโรงเรียนชลประทานวิทยา รองชนะเลิศอันดับสองในการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2562 แสดงการจำลองการแข่งขันหุ่นยนต์ซูโม่ผ่านการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ให้ดันหรืองัดฝ่ายตรงข้ามให้ตกจากสนามแข่งขันภายในเวลาที่กำหนด โดย โรงเรียนชลประทานวิทยา ผลิตนักเรียนที่มีทักษะด้าน Coding และ Robotics จำนวนกว่า 5,000 คนตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตจะสร้างโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยเปิดให้นักเรียนและผู้ปกครองจากโรงเรียนอื่นมีโอกาสพัฒนาทักษะด้าน Coding และ Robotics ได้

         “ดีป้า จะยังคงสานต่อการพัฒนาบุคลากรและกำลังคนของประเทศ ผ่านการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล โดยปี 2564-2568 ดีป้า ตั้งเป้าให้ประชาชนรู้ข้อมูลดิจิทัล จำนวน 50 ล้านคน พัฒนากำลังคนดิจิทัล 1 ล้านคน และประชาชนมีงานทำ 100,000 ตำแหน่ง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สนองตอบนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป”