เปิดตัว “โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค” เทคสตาร์ทอัพไทยพร้อมโกอินเตอร์ ชู ”Mandala AI” ตัวช่วยเจาะลึกบิ๊กดาต้าบนโลกออนไลน์

Cover Story

                 เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก กับ “ บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด” เทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ซุ่มสร้างความพร้อมมาถึง 4 ปี โดยมี Mandala AI ” เป็นหนึ่งในระบบหลักของการพัฒนาสินค้าและบริการ  ซึ่งวันนี้พร้อมแล้วที่จะโกอินเตอร์

                 “โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ก เป็นบริษัทไทยที่เกิดจากแผ่นดินไทย  แต่จะไปค้าขายทั่วโลก ข้ามน้ำ ข้ามทะเล และข้ามอากาศ”   

                 “ดร.เอกลักษณ์ ยิ้มวิไล” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด บอกว่า  นี่ก็คือที่มาของคำว่า “ โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ก”   ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนอนาคต และทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ   

                  ปัจจุบัน Social Media เข้ามามีบทบาทกับคนในสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และ สมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น  รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป Social Media   เปรียบเสมือนเป็นสื่อกลางออนไลน์ ที่เชื่อมต่อให้ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มสังคมเล็กๆ ไปจนถึงการที่ธุรกิจใช้เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร และทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งเสียงของผู้บริโภคหรือข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้บริษัทต่างๆ ที่จะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องมีเครื่องมือมาช่วยวิเคราะห์ แยกแยะ และบริหารจัดการข้อมูลเหล่านั้น

                  “ข้อมูลเชิงลึก ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการทำธุรกิจและการทำคอนเทนต์  แต่ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผลิตในทุกวินาทีจากโซเชียลมีเดียที่มีผู้คนทั่วโลกเข้าถึงบริการเฉลี่ยถึง 59.4 % และยังเติบโตขึ้นทุกวัน  ทำให้กลายเป็นบิ๊กดาต้าที่มากเกินไป ด้วยเวลาที่จำกัด เอไอหรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าการใช้งานเอไอในตลาดทั่วโลกจะเติบโตถึงปีละ 37.3 % (ระหว่างปี 2022-2030) และมีโอกาสเข้ามาทำงานแทนคนกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และจะมีตำแหน่งงานเกิดใหม่อีกราว 97 ล้านตำแหน่ง ที่มีศักยภาพทำงานร่วมกับเอไอ  ขณะที่ข้อมูลจาก Forbs Advisor ระบุว่า 97 % ของภาคธุรกิจ พร้อมใช้ ChatGPT ในการดำเนินธุรกิจ และ  60 %  คิดว่า AI จะช่วยให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของธุรกิจดีขึ้น และ 1 ใน 3 องค์กรธุรกิจจะใช้ AI ในการสร้างเว็บไซต์”

                 ดร.เอกลักษณ์ บอกว่า  เทคโนโลยีเอไอมาแรงมาก เพราะจะมาเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและแม่นยำขึ้น   วันนี้เรามาถึงจุดที่ “เทคโนโลยีล้ำเกินมนุษย์” เช่น ไอคิวของ  ChatGPT  ที่สูงถึง1600  ทำให้นับแต่วันนี้เป็นต้นไปเอไอจะมีบทบาทกับชีวิตของเรา และจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ  ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ข้อมูลหรือดาต้าอะนาไลติกส์ที่มาพรอ้มกับเอไอ ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารในโลก  ซึ่งตลอดระยะเวลา 4ปีที่ผ่านมา โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ก เห็นทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้มาตลอด  ในปีที่ผ่านมาบริษัทจึงรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์หลักจาก Mandala  มาเป็น Mandala AI    

                 ด้วยบริษัทฯ ในฐานะผู้พัฒนาเครื่องมือ Mandala Analytics วิเคราะห์บิ๊กดาต้า  จึงต้องมีเอไอเป็นตัวขับเคลื่อน โดย Mandala AI Ecosystem จะช่วยในการรวบรวม กลั่นกรอง ตลอดจนวิเคราะห์ ประมวลผล และสร้างสรรค์ข้อมูลจาก Big Data บนโลกออนไลน์ โดยมีเป้าหมายในการช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Social Media Data ได้ (Make data accessible for everyone) ซึ่ง Mandala AI Ecosystem จะมีระบบ (Engines) ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญอยู่ 4 ระบบ ได้แก่

                 1. Seed Engine: ระบบรวบรวม และจัดเก็บ และบริหารจัดการข้อมูล Big data ที่มีอยู่บน Social Media อาทิ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และอื่นๆ

                 2. Paradigm Engine: ระบบ Machine Learning คือการเรียนรู้ชุดข้อมูล Data Processing, Modeling, Classification, และ Predictive Modeling

                 3. Mandala AI Engine: ระบบวิเคราะห์ กลั่นกรอง และประมวลผลข้อมูล Big Data

                 และ 4. MandalaGPT: ระบบ AI Deep Learning หรือการเรียนรู้ข้อมูล Big Data เชิงลึกเพื่อให้ AI สามารถพัฒนาตัวเอง คัดเลือกข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง หรือสร้างสรรค์ข้อมูลได้เองจากชุดข้อมูลที่กำหนด

                  ข้อมูลที่อยู่ในระบบ Mandala AI Ecosystem เป็นข้อมูลที่ได้รับการรับรองจาก Meta (Facebook, Instagram, WhatsApp), Google and YouTube, Twitter, Pantip และ Reddit ซึ่งระบบของบริษัทฯ มีข้อมูลมากกว่า 20 พันล้านเซ็ต และสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่า 100 ล้าน เมนชันส์ (Mentions) ต่อวัน

                 สำหรับแผนดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2566 ตั้งเป้ารายได้เติบโตอยู่ที่ 200% จากปีก่อน และมีแผนขยายตลาดในกลุ่มของ SaaS Products ได้แก่ Mandala Cosmos แพลตฟอร์มที่ใช้ในการติดตามเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย และ Mandala Analytics แพลตฟอร์มที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียเชิงลึก ในตลาดประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน  และจะเน้นทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนมีความสนใจมากขึ้น

                 นอกจากนี้ ยังมีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Mandala Cosmos และMandala Analytics ให้เป็น All-in-One Platform ซึ่งจะมีฟีเจอร์ที่ช่วยในการบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย (Social Media Management)  เช่น In-platform Reply, การติดแท็กจัดหมวดหมู่อัตโนมัติ และการแจ้งเตือน (Auto tagging and notification) เพื่อช่วยบริหารจัดการข้อมูลที่ต้องมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมการแจ้งเตือนหากมีเหตุการณ์วิกฤต ผ่านอีเมล หรือไลน์ (Line) ได้

                  รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Mandala AI Custom Enterprise Solutions หรือการออกแบบแพลตฟอร์มเฉพาะสำหรับลูกค้าระดับองค์กร หน่วยงานภาครัฐ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าโครงการเริ่มต้นที่ 6 ล้านบาท ต่อปี  และเตรียมแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ Galaxy Insights ที่เจาะลึกข้อมูลเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธุรกิจความงามและเครื่องสำอาง (Beauty and Cosmetics) กลุ่มธุรกิจอาหาร เป็นต้น ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง

                 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ระบบและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าไว้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ Mandala AI ที่มีทั้งระบบ Social Listening & Monitoring, Data Analytics, CRM, CPD Platform และอื่นๆ ซึ่งเป็น Software as a Services (SaaS) หรือการพัฒนา Paradigm Engine ในฐานะ Platform as a Service (PaaS) ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเทรนโมเดลเอไอได้เอง เป็นต้น

               จากผลิตภัณฑ์พื้นฐานทั้งหมดที่มีของเราสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั้งผู้ใช้งานทั่วไปที่สามารถ Subscription เพื่อใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน นักสร้างคอนเทนต์ (Content Creators) กลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) ดิจิทัล เอเจนซี่ รวมไปถึงองค์กรภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งพร้อมที่จะขยายบริการออกไปทำตลาดทั่วโลก

                 อย่างไรก็ดีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค ได้รับเงินลงทุน 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระดับซีรีส์ A  ซึ่งบริษัทตั้งเป้าภายในปี 2568 จะติดTOP 10 ของโลกในกลุ่มเช่าใช้ซอฟต์แวร์ประเภทการตลาด  และก้าวสู่การเป็น “ยูนิคอร์น”  หรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ.