ผู้เชี่ยวชาญฯ เร่งศึกษาแผ่นดินไหวพิษณุโลกรับมือรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นบนพื้นดิน

News Update

วช.จับมือผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว เผยข้อมูล “เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง”   ชี้เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก เกิดจากรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นบนพื้นดินและไม่เคยมีรายงานมาก่อนในรอบ100 ปี เร่งศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาคาร สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

วันนี้( 30 มิถุนายน 2566) ที่ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร วช.8สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว “เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง” พร้อมด้วย ศ. ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล  คณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ของ วช.

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการให้ข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยผู้เชี่ยวชาญ ด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  รศ. ดร.ธีรพันธ์  อรธรรมรัตน์  นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล, รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และรศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี   โดยมีผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้  โดยจากรายงานข่าวของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย พบผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ ตำบลปากทางอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4 – 5 (เบา-ปานกลาง) ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง 

ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ทันต่อเหตุการณ์ตามหลักวิชาการให้กับประชาคมวิจัยและประชาชนทั่วไป วช. ภายใต้กระทรวง อว. โดยศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านแผ่นดินไหว (Earthquake Research Center of Thailand) ภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) จึงได้จัดแถลงข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ขึ้น ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายประเด็นอันจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคต

รศ. ดร.ธีรพันธ์  อรธรรมรัตน์  นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ว่า   ประเทศไทยมีความเสี่ยงภัยด้านแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตรในครั้งนี้ จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก เพียงแต่เกิดขึ้นที่ความลึกไม่มาก และอยู่ในบริเวณที่ไม่คาดคิดมาก่อน คือ บริเวณแอ่งพิษณุโลก ซึ่งยังไม่มีการรายงานหรือเก็บสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณดังกล่าว  ประกอบกับการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยนั้นยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ การสำรวจรอยเลื่อนมีพลังที่ผ่านมาจึงอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 4.0  ค่อนข้างมาก เนื่องจากรอยเลื่อนมีพลังมีค่า การเลื่อนตัวมากกว่ารอยเลื่อนในภาคเหนือตอนล่างจึงทำให้การพิสูจน์ยากกว่าปกติ

นอกจากนี้ภูมิประเทศของจังหวัดพิษณุโลก  ด้านตะวันออกและ ตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็นภูเขา และมียอดเขาสูงประมาณ 1,000 เมตร จึงสามารถที่จะมีรอยเลื่อนมีพลังที่อัตราการเลื่อนตัวต่ำทำให้ไม่ได้ถูกทำการศึกษา  โดยแผ่นดินไหวขนาด 4.0 เคยเกิดขึ้นใน จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 และตัวอย่างของแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 4.0 ในบริเวณที่ไม่มีข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังคือ แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่เกิดที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562  อย่างไรก็ดีแผ่นดินไหวที่มีขนาดต่ำกว่า 4.0  มีพบได้บ้างในจังหวัด ตาก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และ อุทัยธานี

การแผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะเกิดจากรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault)    โดยเป็นจุดบริเวณแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้คู่ขนานกับแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางตะวันออกของศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว มีการคาดการณ์ว่าเป็นรอยเลื่อนรอบแขนงของรอยเลื่อนที่มีพลังงาน เกิดการสะสมพลังงานในตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสั่นไหว และเป็นรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นบนพื้นดิน  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษาต่อไป  ซึ่งในทางวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ คณะทีมนักวิจัยจึงได้ออกแบบโมเดลแผนที่จำลองที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการประเมินสถานการณ์เพื่อออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรง ซึ่งแผนที่ป้องกันความเสี่ยงว่าพื้นที่ตรงไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวจะมีส่วนช่วยในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างทันท่วงที และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อคลายความกังวล

 ด้าน รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    กล่าวถึงธรณีวิทยาและรอยเลื่อนในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหว ว่า เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง และยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี  เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป ทางกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวใน จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566 ขนาด 4 – 4.9 พบจำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง  

   “แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้เกิดบนรอยเลื่อนมีพลังที่ได้เคยมีการศึกษามาก่อน พบว่าแผ่นดินไหวเกิดอยู่ห่าง จากกลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ไปทางทิศตะวันตกและอยู่ห่างจากกลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร จึงคาดว่าจะเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ถูกตรวจพบมาก่อนหรือเป็นรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นจากบนพื้นดิน (blind fault) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เช่น การสำรวจด้วยคลื่นไหว สะเทือนแบบสะท้อน ซึ่งเป็นวิธีสำรวจแบบเดียวกับที่ใช้สำรวจหาปิโตรเลียม ตำแหน่งของแผ่นดินไหวครั้งนี้ อยู่ที่บริเวณเกือบปลายสุดด้านทิศตะวันออกของแอ่งพิษณุโลกซึ่งเป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ ข้างบนสุดเป็นชั้น ตะกอนทางน้ำปิดทับอยู่เกือบทั่วทั้งภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ชั้นตะกอนเหล่านี้อาจจะช่วยขยาย คลื่นแผ่นดินไหวได้

 นอกจากนี้ตรงตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหว พบว่าชั้นตะกอนทางน้ำถูกรองรับด้วยชั้นหินของ แอ่งพิษณุโลกหนาน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดอยู่ลึกลงไปหลายกิโลเมตร จึงยังไม่ทราบ แน่ชัดว่ารอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มรอยเลื่อนที่อยู่ในแอ่งพิษณุโลกหรือ อาจจะเป็นรอยเลื่อนเก่าที่อยู่ลึกลงไปที่สะสมพลังงานมากพอจนเกิดการเลื่อนตัวอีกครั้ง การสำรวจตำแหน่ง รอยเลื่อนระดับลึกสามารถทำได้โดยการตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือแผ่นดินไหวตามที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดแผ่นดินไหวและทิศทางการวางตัวของรอยเลื่อนได้มากขึ้น”  

 รศ. ดร.ภาสกร   กล่าวว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังร่วมมือกับ หน่วยงานจากกรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตุนิยมวิทยา ติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวชั่วคราวเพื่อตรวจวัด แผ่นดินไหวตาม (aftershock) ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลา โดยต้องติดตั้งสถานีตรวจวัด แผ่นดินไหวให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้เป็นจำนวนมาก และวิเคราะห์ลักษณะของรอยเลื่อนที่เป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้ต่อไป

สำหรับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อโครงสร้าง    ศ. ดร.อมร พิมานมาศ  นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย   กล่าวว่า  แผ่นดินไหวครั้งนี้ ประชาชนสามารถรับรู้และรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้ โครงสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดการแตกร้าว ในผนังหรือเสา แต่ไม่ถึงขั้นทำให้โครงสร้างถล่ม อาคารโบราณ เช่น  วัดหรือโบราณสถาน ที่มีอายุยาวนาน อาจเกิดรอยร้าวได้ แต่อาคารที่ก่อสร้างสมัยใหม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมไม่ได้รับผลกระทบ

 ศ. ดร.อมร  กล่าวอีกว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงต้องเตรียมรับมือ อยากให้คนไทยตระหนักแต่อย่าตระหนก และเราสามารถรับมือด้วยมาตรการทางโครงสร้างและกฎหมาย ทั้งนี้ได้เสนอแนวทางการจัดการปัญหาแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง  โดยเร่งศึกษารอยเลื่อนใหม่ในบริเวณดังกล่าว จัดทำฐานข้อมูลอาคาร และประเมินความเสี่ยง จัดทำแบบมาตรฐานชิ้นส่วนหลักและรอยต่อของอาคารขนาดเล็กที่ต้านแผ่นดินไหวได้ให้ประชาชนนำไปใช้ก่อสร้าง และเสริมกำลังอาคารขนาดเล็กด้วยวิธีการที่ประหยัด

ขณะที่รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์  นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึง “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว” ว่า การเกิดแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่แม้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่อาจส่งผลกระทบรุนแรงมาก ดังนั้นมาตรการการรับมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเตรียมพร้อม โดยอาศัยองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม  ซึ่งในประเทศไทยได้มีการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูล และศึกษาวิจัยเพื่อลดภัยพิบัติ จากแผ่นดินไหวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้นำไปสู่การออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ได้มีการสนับสนุนทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม  เพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว (Hub of Talents) จัดตั้งเป็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว” โดยมี ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และบุคลากร จากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จากสหวิทยาการ เข้าร่วมกว่า 40 คน และมี “ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย” จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ  

          “ทิศทางการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต เพื่อเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างอาคารที่ปลอดภัย ดังนั้นเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารในการรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเสริมความแข็งแรงของอาคารเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียในอนาคต