อว.รายงานผลงานวิจัย ใช้ LiDAR ศึกษาร่องรอยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม

News Update

อว. เข้าพบประธานองคมนตรี รายงานผลงานวิจัยการใช้เทคโนโลยีการสำรวจโดย LiDAR เพื่อศึกษาร่องรอยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 66 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี  พร้อมด้วย พลเอกอภิชาติ​ นพเมือง และ นายนพพร​ รอย​ลาภ​เจริญพร​ รองผู้อำนวยการ​สำนักงาน​เลขาธิการ​องคมนตรี​ ได้ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว., ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการGISTDA, นางสาวสิริธรรม ณ ระนอง ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา), ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผู้อำนวยสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา (ธัชชา), ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศจาก GISTDA, ดร.ภานุ เศรษฐเสถียง นักวิจัยจาก GISTDA และ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าพบเพื่อรายงานผลงานวิจัยการดำเนินงานการใช้เทคโนโลยี LiDAR เพื่อการสำรวจทางโบราณคดีและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ

รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวรายงาน ถึงความเป็นมาของวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา ที่เป็นกลไกสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ อันประกอบไปด้วย 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป

 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำคุณค่าจากการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการใช้เทคโนโลยีด้านการสำรวจจากระยะไกล (LiDAR) ในการคำนวณและประมวลผลข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นภาพโครงสร้างของวัตถุขนาดเล็กไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งภูมิประเทศในพื้นที่ต่าง ๆ บนผิวโลก ซึ่งหน่วยงานจะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของประเทศไทยในพื้นที่ที่สำคัญต่อไป

ทางด้าน ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศจาก GISTDA ได้นำเสนอกระบวนการและข้อค้นพบจากการใช้เทคโนโลยี LiDAR ในการบินสำรวจพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง เมืองโบราณเวียงท่ากาน เมืองโบราณคูบัว รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิศึกษาในดินแดนประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งท่านประธานองคมนตรี ให้ข้อแนะนำในการศึกษาเกี่ยวกับ สุวรรณภูมิศึกษา ในประเด็น “สุวรรณภูมิ : อารยธรรมเชื่อมโยงโลก” ควรพิจารณามิติให้ครบทุกด้าน เช่น การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยี การค้า ศาสนาและงานศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของพุทธศาสนาระหว่างดินแดนในประเทศอินเดียกับประเทศไทย นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ด้วย รวมถึงเน้นย้ำให้กระทรวง อว. ใช้ศักยภาพที่มีด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านการวิจัย ให้เป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อสนับสนุนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อยกระดับการรับรู้ การอนุรักษ์ การท่องเที่ยว และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศต่อไป

ในขณะที่ ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา  ธัชชา กล่าวเสริมว่า อว. โดย ธัชชา ได้ขับเคลื่อนงานวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บูรณาการการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของประเทศและภูมิภาค ด้วยการเริ่มต้นนำ 3 เทคโนโลยีที่สำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยีการสำรวจด้วย LiDAR เพื่อสร้างฐานข้อมูลการเชื่อมโยงเส้นทางแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ, การสร้างฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมมนุษย์และสัตว์โบราณ (DNA) และ การสร้างเครื่องกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ Carbon AMS Dating ครั้งแรกในประเทศ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการค้นคว้าเปิดหน้าประวัติศาสตร์โบราณคดีของประเทศไทยที่ย้อนถอยไปไกลกว่าหลายพันปี ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ยืนยันการค้นพบและเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี สร้างการรับรู้และความภาคภูมิใจเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมบนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินประเทศไทยต่อไป

จากนั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้ให้ข้อแนะนำว่า การศึกษาเกี่ยวกับ สุวรรณภูมิศึกษา ในประเด็น “สุวรรณภูมิ : อารยธรรมเชื่อมโยงโลก” ควรพิจารณามิติให้ครบทุกด้าน เช่น การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยี การค้า การศาสนา งานศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของพุทธศาสนาระหว่างดินแดนในประเทศอินเดียกับประเทศไทย นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ด้วย รวมถึงแนะนำให้กระทรวง อว. ใช้ศักยภาพที่มีด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านการวิจัย ให้เป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อสนับสนุนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อยกระดับการรับรู้ การอนุรักษ์ การท่องเที่ยว แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศต่อไป