นักวิจัยใช้ซินโครตรอนช่วยหาโปรตีนในเห็ดหลินจือต่อยอดสู่ครีมลดเซลลูไลท์

เวทีวิจัย

นักวิจัยไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ ม.เกษตร และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน  ใช้เทคนิคซินโครตรอนหาตำแหน่งของเห็ดหลินจือที่มีโปรตีนสูงสุด เพื่อพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากเห็ดหลินจือ สำหรับต่อยอดเป็นครีมทาลดการสะสมของเซลลูไลท์

               ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า  “ เนื่องจาก รศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับดร.สุชีวิน กรอบทอง และทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)คือ ผศ.ดร.ปวิตตราภรณ์ สมุทรทัย  และนายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล   ให้ความสนใจสารสกัดจากเห็ดหลินจือประเภทโปรตีนไฮโดรไลเสท ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการสะสมไขมันในเซลล์ จึงได้ร่วมกันพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากเห็ดหลินจือ เพื่อพัฒนาเป็นครีมทาสำหรับลดการสะสมของเซลลูไลท์”

               ทั้งนี้ในการพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากเห็ดหลินจือนั้น ทีมวิจัยได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดย ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนที่เรียกว่า “เทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดไมโครสเปกโตรสโคปี” (synchrotron FTIR microspectroscopy) เพื่อระบุตำแหน่งของโปรตีนที่สะสมตามส่วนต่างๆ ของเห็ดหลินจือที่นำมาศึกษา ซึ่งเป็นการวัดปริมาณโปรตีนแบบไม่ทำลายตัวอย่างและสามารถวิเคราะห์ผลได้อย่างรวดเร็ว เมื่อทราบตำแหน่งของเห็ดหลินจือที่มีโปรตีนสูงสุดแล้ว จึงนำส่วนดังกล่าวไปสกัดให้ได้โปรตีนไฮโดรไลเสทสำหรับผลิตเครื่องสำอางต่อไป 

               ดร.บัวบาล  กล่าวว่า  “จากการศึกษาพบว่าบริเวณส่วนดอกของเห็ดหลินจือมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าส่วนก้านดอกอย่างชัดเจน โดยพิจารณาจากปริมาณโปรตีนเชิงสัมพัทธ์ในรูปแบบการวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิความร้อนที่รายงานโปรตีนไล่ตามเฉดสี ผลการวิเคราะห์นี้ทำให้ได้กรรมวิธีใหม่ในการสารสกัดโปรตีนไฮโดรไลเสทจากเห็ดหลินจือ ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสะสมไขมันของเซลล์ไขมัน นอกจากนี้เมื่อทดสอบความเป็นพิษกับเซลล์ผิวหนังปกติ และเซลล์ไฟโบรบลาสต์ อีกทั้งสารสกัดโปรตีนโดรไลเสทจากเห็ดหลินจือไม่ส่งผลให้เซลล์ตายอีกด้วย”  

               สำหรับ เซลลูไลท์นั้น เป็นลักษณะผิวหนังที่เป็นรอยบุ๋ม ขรุขระ ที่มักพบบริเวณสะโพก ต้นขา ท้องน้อย หน้าอก และต้นแขน ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดเซลลูไลท์ที่แน่ชัด แต่พบความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) และชั้นเนื้อเยื่อเซลล์ไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังกำพร้า นอกจากนี้ยังพบว่า ฮอร์โมนและอายุมีผลสำคัญต่อกระบวนการเกิดเซลลูไลท์