กลยุทธ์ขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนของ “เอเซอร์”

นวัตกรรมยั่งยืน

                ไม่ยอมตกเทรนด์เรื่องของ “ความยั่งยืน”  ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกระแสที่มาแล้วจากไป  แต่เป็นความยั่งยืนของการอยู่ได้และไปต่อ ซึ่ง “เอเซอร์” ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ชั้นนำด้านไอทีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

               นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ   ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด  กล่าวว่า เอเซอร์ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เน้นแนวทางการปฎิบัติไว้ใน 3 แนวทาง  อย่างแรก คือ  Climate Change  ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ มีการใช้พลังงาน น้อยลง 45 % ภายในปี 2025 โดยเทียบกับปี 2016  เอเซอร์มีส่วนผลักดันให้ ซัพพลายเออร์ มุ่งมั่นในการปฏิบัติตาม RE100 และ SBT เพื่อช่วยลดคาร์บอน

               ต่อมา คือ Circular economy  เพิ่มปริมาณการนำพลาสติก PCR  20-30% มาใช้ในสินค้ากลุ่มต่างๆ ของเอเซอร์ทั้งคอมพิวเตอร์ จอแสดงผล โปรเจคเตอร์ และอื่นๆ   โดย  PCR  หรือ Post-Consumer Recycled  คือ พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง มีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการการผลิตที่ปล่อยก๊าซ (Carbon Footprint) สู่บรรยากาศน้อยกว่าพลาสติกทั่วไป 25 %  ลดการใช้เม็ดพลาสติกได้ 20-60% รวมถึงการรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลมาเป็นพลาสติกสำหรับทัชแพด  และสุดท้าย  คือ  Social Impact   หรือการที่พนักงานมีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่า 90%    

                เอเซอร์เชื่อว่า “ความยั่งยืน”  ต้องเกิดจากความร่วมมือกันทุกฝ่าย จึงมีการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานในองค์กร พันธมิตรและพาร์ทเนอร์ โดยนำเสนอความคิด แนวทาง และกิจกรรม ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

                ปัจจุบัน เอเซอร์กำลังดำเนินการขับเคลื่อนผ่าน 3 กิจกรรมได้แก่  ทิ้ง | ทิ้ง   (ถูกทิ้ง | ทิ้งถูก) โครงการด้าน E-Waste ที่เอเซอร์ให้ความสำคัญในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ ศูนย์บริการเอเซอร์กว่า 10 สาขา และมีแผนจะเพิ่มจุดวางให้ได้มากขึ้น 30 % โดยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ในปี 2022 เอเซอร์รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึง 918 กก. และคาดว่าในปี 2023 จะเพิ่มขึ้น 20% โดยจะรวบรวมและส่งต่อให้กับหน่วยงานเพื่อคัดแยก รีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัย

               โครงการ “ทอใหม่ (จาก) เส้นใย ขวดเก่า”  โดยเอเซอร์ร่วมกับวัดจากแดง  ปลุกจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะของพนักงานในองค์กรเอเซอร์ ในการรวบรวมและนำส่งขวดน้ำพลาสติก ส่งต่อให้กับศูนย์การเรียนรู้และจัดการขยะชุมชน “วัดจากแดง” เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยพลาสติกและผลิตเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับพระสงฆ์ ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมจนถึงตอนนี้เราได้ส่งต่อขวดน้ำพลาสติกไปยังวัดจากแดง รวมแล้วมากกว่า 1,800 ขวด ช่วยผลิตผ้าไตรจีวรได้มากว่า  120 ชุด

               และโครงการ “เหลือขอ = ขอที่เหลือ เพื่อแบ่งปัน” ซึ่งเอเซอร์ร่วมกับมูลนิธิบ้านนกขมิ้นสร้างคุณค่าให้กับของเหลือใช้ ส่งต่อเป็นโอกาส รายได้สำหรับค่าอาหาร ค่าเทอมให้กับเด็กๆ ในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ปัจจุบันมีการตั้งรับบริจาคที่ศูนย์บริการเอเซอร์สำนักงานใหญ่เท่านั้น โดยได้มีการมอบสิ่งของต่างๆ ให้กับทางมูลนิธิไปแล้วกว่า 5 ครั้ง และมีแผนที่จะขยายเพิ่มจุดรับบริจาคกับทางพาร์ทเนอร์ในเร็วๆ นี้

                อย่างไรก็ดีนอกจากเอเซอร์จะมุ่งดำเนินโครงการ Earthion ในการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้แก่พนักงานในองค์กร พาร์ทเนอร์และลูกค้าแล้ว    ยังมีการผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยี  เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยขยายไลน์อัพผลิตภัณฑ์กลุ่ม Vero ทั้ง โน้ตบุ๊ก มอนิเตอร์ โปรเจคเตอร์ และเราท์เตอร์  โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อย CO2 ไปจนถึงการส่งมอบสินค้า  และแพคเกจจิ้งสินค้า ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล  ใช้หมึก Soy Ink หมึกพิมพ์ที่มีน้ำมันถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบแทนน้ำมันปิโตรเลียม ปราศจากสาร VOCs ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และโปรแกรม VeroSense ที่ช่วยจัดสรรการใช้พลังแบตเตอรี่

                นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องฟอกอากาศ ที่ผลิตจาก PCR 35 % ซึ่งเมื่อเทียบกับการใช้พลาสติกแบบบริสุทธิ์จะช่วยลดการปล่อย CO2 ในระหว่างการผลิตได้ถึง 20 % นอกจากนี้ยังใช้หมึกพิมพ์ที่อาศัยน้ำเป็นตัวทำละลาย (water-based ink)   เครื่องกรองน้ำที่มีขนาดกะทัดรัด เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก  และขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ด้วยจักรยานไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า.