รีไซเคิลขยะซองขนม เป็นอะลูมิเนียมมูลค่าสูง

เวทีวิจัย

บพข. ร่วมมือ UNDP, CIRAC, บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด, ทีมวิจัยเคมีเทคนิคจุฬาฯ และชุมชนวัดจากแดง แก้ปัญหาขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียม  ด้วยเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องออกแบบโดยคนไทย เพื่อรีไซเคิลอะลูมิเนียมและพลาสติกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มเความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเปิดตัวเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องสำหรับรีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียม หรือที่รู้จักกันดีในรูปชื่อ “ถุงวิบวับ” เพื่อแยกชั้นอะลูมิเนียมออกจากพลาสติก (Laminated Plastic) และนำอะลูมิเนียมที่แยกได้มาหลอมเป็นอะลูมิเนียมก้อนที่มีความบริสุทธิ์สูงมากกว่า 97% สามารถนำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้อะลูมิเนียมได้ ในขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลืออยู่จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและขายต่อได้ นอกจากนี้ยังมีผลิตผลพลอยได้เป็นก๊าซเชื้อเพลิง (Fuel Gas) ซึ่งนำมาใช้แทน LPG เป็นการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือกระจกได้อีกทางหนึ่ง

เครื่องไพโรไลซิสดังกล่าวทาง CIRAC เป็นผู้ออกแบบขึ้น โดยในช่วงเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนจาก UNDP ในการพัฒนาในระดับ Lab scale และต่อมาได้ร่วมกับทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.ประเสริฐ  เรียบร้อยเจริญ หัวหน้าภาควิชาเคมีเทคนิค และ บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ในการพัฒนาและ scale up เทคโนโลยีจากระดับ Lab scale สู่ระดับ Pilot scale ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ได้เครื่องจักรที่มีมาตรฐาน มีสเกลที่ใหญ่ขึ้น มีประสิทธิผลสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความต้องการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม โดยทีมวิจัยได้ติดตั้งเครื่องจักรไว้ดังกล่าวที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้และทดลองแยกขยะในชุมชนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทีมผู้พัฒนาได้จัดงาน “CIRAC Demo Day” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อสาธิตการทำงานของเครื่องไพโรไลซิส พร้อมเชิญบริษัทเอกชนต่าง ๆ ร่วมชมการทำงานของเครื่องและหารือแนวทางการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการในฐานะหน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการนี้ว่า “โครงการนี้สามารถตอบโจทย์ของ บพข. ได้ทุกประการ เนื่องจากเครื่องจักรนี้ได้ใช้หลักการของไพโรไลซิสในการแยก Laminated Plastic โดยเฉพาะอะลูมิเนียมออกกัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถรับขยะประเภทกล่องนมและถุงขนมขับเคี้ยวได้ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน และได้อะลูมิเนียมจากการรีไซเคิลประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังมีผลิตผลพลอยได้เป็นน้ำมันจากการหลอมละลายพลาสติกซึ่งสามารถขายต่อได้ รวมถึงได้ Fuel Gas ที่สามารถนำมาใช้หมุนเครื่องจักรแทนก๊าซ LPG ได้อีก ดังนั้นจึงสามารถตอบโจทย์ของ บพข. ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการเอาอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ด้านการลดของเสีย และด้านการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก Fuel Gas ที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิสนั้นสามารถนำมาใช้แทน LPG ได้ จึงเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณทาง UNDP และ CIRAC ที่ได้เริ่มต้นดำเนินโครงการกันมาตั้งแต่ระดับ Lab Scale นอกจากนี้ยังต้องขอบคุณทีมวิจัยจากภาควิชาเคมีเทคนิค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องจากระดับ Lab Scale สู่ระดับ Pilot Scale ทำให้ได้เครื่องจักรที่สามารถจัดการกับขยะกลุ่ม Laminated Plastic ได้อย่างมีประสิทธภาพ และที่ขาดไม่ได้เลยคือความร่วมมืออันดีจากทางวัดจากแดงที่อนุเคราะห์สถานที่สำหรับดำเนินโครงการและชาวบ้านในชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับทางโครงการ”

ด้าน ดร.ศิขริน เตมียกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CIRAC กล่าวเสริมว่า “เรามองว่าปัญหานี้จริง ๆ แล้วมันคือโอกาส เนื่องจากขยะพลาสติกดังกล่าวมีอะลูมิเนียมซึ่งเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูงผสมอยู่ หากเราสามารถแยกเอาอะลูมิเนียมออกมาได้ นั่นหมายถึงเราสามารถที่จะเปลี่ยนจากขยะที่ไม่มีมูลค่าให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและเติบโตได้ในเชิงของธุรกิจ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่ม Aluminum Plastic นี้ ต่างให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ชนิดดังกล่าว ซึ่ง CIRAC เองเป็นหนึ่งใน Solution Provider ให้กับบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเราคาดว่า หากโครงการนี้ได้รับการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์สำเร็จ จะมีกำไรสุทธิ (Potential Profit) จากการจำหน่าย อะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ถึง 140 – 340 ดอลล่าสหรัฐต่อตัน จึงนับว่ามีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกผสมชั้นอะลูมเนียมที่ยังไม่มีใครสามารถจัดการอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนและระดับประเทศ ทั้งยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจากกระบวนการผลิตอลูมิเนียม และลดการนำเข้าของอะลูมิเนียมจากต่างประเทศอีกด้วย”

จากการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า ขยะพลาสติกในประเทศไทยมีที่มีอะลูมิเนียมผสมอยู่นั้นคิดเป็นปริมาณประมาณ 50 ตันต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการสร้างรถยนต์ได้ถึง 150 คัน ถ้าหากเราสามารถรีไซเคิลเอาอะลูมิเนียมเหล่านั้นกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ จะสามารถเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้อย่างมหาศาลจะการที่ไม่ต้องนำเข้าอะลูมิเนียมเข้ามาจากต่างประเทศ และสามารถที่จะใช้อะลูมิเนียมที่เรารีไซเคิลมาจากขยะได้เอง ตลาดอะลูมิเนียมในไทย (Total Market) นั้นมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่จะสามารถผลิตอะลูมิเนียมเองได้ เราต้องนำเข้า 100% หากคิดเฉพาะอะลูมิเนียมที่แทรกซึมอยู่ตามถุงขนม ซองกาแฟ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ได้นั้นมีมูลค่าถึง 35 ล้านดอลล่าสหรัฐ

นายกานต์ รามอินทรา Integrated Team Leader, UNDP ประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับ UNDP นั้นเป็นเหมือนกับพี่เลี้ยงคนแรกของ CIRAC และมีทาง บพข. เป็นพี่เลี้ยงคนที่สอง ซึ่งโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการจัดการขยะในชุมชนวัดจากแดงรวมถึงขยะที่ลอยตามน้ำมาก่อนที่จะลงสู่ทะเล UNDP เองมีหน้าที่หลักในประเทศไทยคือการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามกรอบพัฒนา Sustainable Development Goals (SDGs) ปัจจุบันเรามีโครงการที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 20 กว่าโครงการ และเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก ๆ นั้นคือเรื่องการจัดการขยะ หรือ Circular Economy เราพบว่าในหนึ่งปีประเทศไทยมีการทิ้งขยะ ที่ 15 ล้านตัน และใน 15 ล้านตันนั้นมีปริมาณพลาสติกอยู่ถึง 11% ซึ่งสามารถพบได้ตามแม่น้ำเจ้าพระยา ยิ่งไปกว่านั้นพลาสติกพวกนี้ไม่สามารถรีไซเคิลได้อย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรม โดยสามารถรีไซเคิลได้เพียงประมาณ 20% เท่านั้น เราจึงพยายามที่จะทำให้ได้มากขึ้น และเราคาดหวังว่าหากเทคโนโลยีนี้สามารถทำได้จริงในระดับ Commercial Scale จะมีศักยภาพในการลดขยะได้อย่างมาก”

ทางด้าน พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง ได้กล่าวถึงการจัดการขยะของทางวัดและความร่วมมือในโครงการนี้ว่า “ทางวัดจากแดงได้มีการจัดการเรื่องขยะร่วมกับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยเมื่อก่อนใช้วิธีการเผา ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นและส่งมลพิษ จึงได้หาทางออกโดยนำขยะเศษอาหารไปทำเป็นปุ๋ย ส่วนขยะพลาสติก เช่น ถุงแกง ที่ได้มาจากการบิณฑบาตรเป็นจำนวนมากนั้น ได้นำไปนึ่งทำน้ำมันด้วยเครื่องไพโรไลซิสที่ทางวัดทำกันเอง

 นอกจากนี้ทางวัดยังได้ทำการดักจับขยะที่ลอยผ่านหน้าวัดก่อนจะลอยลงสู่อ่าวไทยโดยใช้เรือธรรมดา ๆ ที่ทางวัดมีอยู่ในการดักจับ ซึ่งพบว่าสามารถดักจับขยะได้ถึง 2 ตัน ต่อ 1 ชม. จากนั้นได้นำเอาขยะที่ดักจับได้มาคัดแยก โดยช่วงแรกได้จัดให้มีการอบรมพระลูกวัดก่อนโดยการฝึกทำเช้าเย็นทุกวัน จากนั้นจึงขยายผลต่อไปยังชาวบ้านในชุมชน ซึ่งโครงการจัดการขยะของทางวัดได้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้มีความร่วมมือกับทั้งทางภาครัฐโดยเฉพาะ อบต. และอำเภอ ที่มีนโยบายเรื่องการจัดการขยะ และภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 36 บริษัท ที่เข้ามาร่วมโครงการกับวัดจากแดงในการจัดการขยะ และตอนนี้วัดก็ได้มาร่วมมือกับ CIRAC เพื่อแก้ปัญหาการจัดการกับขยะในกลุ่มซองขนมซึ่งมีแผ่นโลหะอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ

เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าจะจัดการกับขยะกลุ่มนี้ได้อย่างไรเพราะมีอะลูมิเนียมผสมอยู่ หากเป็นถุงพลาสติกล้วน ๆ ก็สามารถนำเข้าเครื่องนึ่งทำน้ำมันได้เลย แต่พอมีโลหะผสมอยู่จึงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะจะทำให้มีโลหะเหลือตกค้างอยู่ นอกจากนี้การรีไซเคิลขยะชนิดนี้ยังทำได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถแยกส่วนประกอบของอะลูมิเนียมออกจากพลาสติกได้ แต่ขณะนี้ทาง CIRAC ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ไพโรไลซิสที่สามารถจัดการขยะกลุ่มนี้ได้โดยการเปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียมและน้ำมันเชื้อเพลิง ทางวัดจากแดงจึงได้ร่วมมือกับ CIRAC ในการให้พื้นที่จัดตั้งเครื่องไพโรไลซิสและได้ร่วมกับชุมชนในการจัดการขยะกลุ่มซองขนมขึ้นมา เชื่อว่าโครงกาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในท้องที่ และขยายผลในระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป”

ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ปัจจุบันการรีไซเคิลขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำพลาสติก (PET) หรือถุงแกง กลับมาใช้งานใหม่หรือเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นนั้นสามารถทำได้ไม่ยากนักด้วยกระบวนการทางเคมี แต่สิ่งที่ทางโครงการนี้ได้มุ่งเน้น คือการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในกลุ่มที่เรียกว่า Aluminum Plastic Packaging” คือ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีชั้นอะลูมิเนียมเป็นเลเยอร์อยู่ด้านในตรงกลางระหว่างชั้นพลาสติก เรียกอีกอย่างว่า Laminated Plastic ทำให้ยากต่อการรีไซเคิล และไม่สามารถขายต่อได้ และกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

 แต่การใช้งานบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีอยู่อย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ช่วยให้สามารถรักษาความสดใหม่ของอาหารด้านในได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด เช่น กล่องนม ถุงขนมขบเคี้ยว ซองกาแฟ ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า “ถุงวิบวับ” ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ยังคงมีความจำเป็นและมีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% ต่อปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางในจัดการกับขยะชนิดนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว การรีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือกระจกจากกระบวนการทำเหมืองและถลุงผลิตอะลูมิเนียมอีกด้วย