วว. จับมือบีจีซี ประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็กดักจับคาร์บอนจากกระบวนการหลอมแก้ว

นวัตกรรมยั่งยืน

วว. จับมือ บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส   ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง ประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็กในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหลอมแก้วและการแปรรูปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร  

           ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า  วว.ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)  หรือ บีจีซี  ในการร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง ประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็กในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหลอมแก้วและการแปรรูปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร   

           โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี  ซึ่งจะดำเนินงานร่วมกันตามนโยบาย BCG Model  ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงสาหร่าย  การเพิ่มผลผลิต กระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็ก ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหลอมแก้วและการแปรรูปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ ต่อไป ภายใต้กรอบดำเนินงานการใช้พื้นที่ร่วมกัน การอบรมพัฒนาความรู้/ฝึกปฏิบัติงาน  ความร่วมมือวิจัยและพัฒนา  การแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ   การเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของ วว. รวมทั้งการสร้างและขยายเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาและบริษัทชั้นนำทั่วโลก

            นายศิลปะชัย  วัฒนาเกษตร   กรรมการ บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว ในเครือ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคง โปร่งใส ด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี ปัจจุบันความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศและทั่วโลกนั้นมีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ใช้บรรจุภัณฑ์ด้วยกันทั้งสิ้น บีจีซีจึงเดินหน้าต่อยอดและขยายธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรอย่างแท้จริง ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ใส่ใจในคุณภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

           “ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ วว. ซึ่งมุ่งการทำงานวิจัยที่มีดีมานด์ ไม่ใช่วิจัยขึ้นหิ้ง และมุ่งเน้นความยั่งยืน  ที่เป็นแนวทางการดำเนินองค์กรที่ใกล้เคียงกัน วันนี้จะเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวที่มั่นคงของบริษัทบีจีฯ และ วว.  ผลจากการวิจัยพัฒนาร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นั้น จะนำไปสู่การขยายผลในการร่วมกันทำงานในสาขาอื่นๆ ต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ  ”  

           ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร บริษัทบีจีฯ ได้เยี่ยมชมภารกิจ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่ายของ วว. (Algal Excellent Center) ด้วย โดย วว. เป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดตั้งคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย (TISTR Algae Culture Collection, TISTR ACC) ซึ่งในปัจจุบันมีการรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็ก (freshwater microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล กว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.) ที่สำคัญและโดดเด่น คือ วว. มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-40,000 ลิตร เป็นระบบการเพาะเลี้ยงแบบต่อเนื่องและครบวงจร ปริมาตรรวม 400,000 ลิตร

           วว. ดำเนินงานด้านสาหร่าย ดังนี้ 1) ด้านอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาหร่ายอย่างยั่งยืนโดยการจัดตั้งคลังสาหร่าย วว. ณ เทคโนธานี เป็นการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention Biological Diversity, CBD) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ conservation) และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (sustainable utilization)  2) ด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน  และ 3) ด้านงานบริการ  ได้แก่   การให้บริการสายพันธุ์สาหร่าย   การจัดจำแนกชนิดของสายพันธุ์สาหร่าย  การตรวจนับจำนวนเซลล์สาหร่าย การให้บริการตรวจวิเคราะห์สารพิษไมโครซิสตินจากสาหร่าย การให้บริการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสาหร่าย และการให้บริการที่ปรึกษา