สอวช.ย้ำความสำคัญ “IDE” ทางออกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง

Cover Story

               ยืนยัน “นวัตกรรม”  ยังเป็นทางออกของประเทศไทย  

               หมดเวลา กินบุญเก่า ” ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มี ซึ่งจากการวิเคราะห์และเปรียบเทียบประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ที่แม้จะประสบปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกันทั่วโลก แต่ยังสามารถเติบโตได้ดีทั้ง ๆ ที่ในอดีต เคยมีรายได้ต่อคนต่อปีต่ำกว่าหรือเท่ากับประเทศไทย พบว่าสิ่งที่ ประเทศไทยขาดไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ การไม่มีของใหม่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นหากต้องการฟื้นเศรษฐกิจที่ถดถอยให้กลับมาอีกครั้ง  สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างผู้เล่นรายใหม่ การต่อยอดสาขาใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจเดิม และต้องทำเรื่อง Sustainability หรือ ความยั่งยืน

               นี่..คือมุมมองสำคัญ จาก “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่ยืนยันและเชื่อว่า “ หากต้องการให้ประเทศไทย เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ จำเป็นต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม”  ทั้งสิ้น ”

               แต่..ใครจะเป็นผู้ทำนวัตกรรมและใครจะเป็นผู้นำเอานวัตกรรมออกไปสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ และสร้างรายได้เข้ากลับมาให้กับประเทศ  นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ…

               ส่วนคำตอบ ดร.กิติพงค์  บอกว่าคือสิ่งที่เราเรียกว่า “ IDE”  (Innovation Driven Enterprise)  หรือผู้ประกอบการที่นำเอานวัตกรรมมาทำธุรกิจ และเป็นที่มาของ “เป้าหมาย 1000×1000” ของ สอวช. ในการสนับสนุนให้เกิดผู้เล่นรายใหม่  ผ่านการปลดล็อกอุปสรรคและการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างผู้เล่นรายใหม่หรือ IDE  จำนวน 1,000 ราย ที่นำเอานวัตกรรมมาทำธุรกิจที่สามารถสเกลอัพสร้างมูลค่าได้โดยเฉลี่ยรายละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวมของประเทศได้ถึง  1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

               ทั้งนี้การจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมหรือ IDE เกิดขึ้น ทำงานได้และขยายธุรกิจได้ สิ่งที่ต้องมี คือ  “ระบบนิเวศนวัตกรรม”

               ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา  สอวช. ได้จัดสัมมนา ” ปลดล็อกมหา’ลัย ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย สู่เป้าหมาย 1,000 x 1,000 ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท”   ที่ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากรมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้สนใจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

               ดร.กิติพงค์   กล่าวว่า  การจะสนับสนุนให้เกิด IDE ได้นั้น ต้องมีงานด้านนวัตกรรม  และนวัตกรรมที่ยั่งยืนจะเป็นเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยจึงสำคัญมาก จึงต้องส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยหันมาทำอีกหนึ่งพันธกิจ นอกเหนือจากการบริการวิชาการ การศึกษาการสอนหรือการทำวิจัยซึ่งควรที่จะนำศักยภาพต่าง  ๆ ที่มีอยู่นั้น มาสนับสนุนเรื่องของการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมรวมถึงสตาร์ทอัพด้วย

               ที่ผ่านมา สอวช. ได้สนับสนุนทางการเงิน บุคลากร ที่ปรึกษา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมไปถึงกฎระเบียบที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านการจัดตั้งกองทุน ววน. จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน และมีการออกระเบียบสภานโยบายว่าด้วยการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ทุนโดยตรงแก่ภาคเอกชนได้ ภายใต้แนวทางและกระบวนการที่มีความชัดเจน ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้การให้ทุนด้าน ววน. มีความครอบคลุม สามารถตอบเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศได้

               นอกจากนี้ สอวช. ยังร่วมกับภาคมหาวิทยาลัย จัดทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดหลักเปิดเผย โปร่งใส และมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม และยังได้ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถขอเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์

               สำหรับนโยบายส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนผ่านกลไกการจัดตั้ง Holding Company ซึ่งจะเป็นบริษัทนิติบุคคลที่เข้ามาทำการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมในรูปแบบที่มีความคล่องตัวและเป็นมืออาชีพ  สอวช. ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติหรือ Guideline รวมไปถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ ในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความชัดเจนในส่วนนี้ โดยจะเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสามารถร่วมลงทุนและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมด้วยทรัพยากรของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

               และยังได้ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สนับสนุนให้มีหน่วยงานตัวกลาง เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ให้บริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iBDS (Innovation Business Development Service) ซึ่งที่ปรึกษาเหล่านี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านนวัตกรรมของธุรกิจได้อย่างตรงจุด

               “ งานทางด้านนวัตกรรม เป็นงานที่มีผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงด้วย  แต่ถ้าเราก้าวข้ามความเสี่ยงนั้นไปได้จะเกิดผลตอบแทนกลับมาที่สูงมาก ๆ ระบบนิเวศนวัตกรรมที่ต้องสร้างขึ้น จะต้องสร้างจากการเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันที่เป็นอยู่   โดยต้องเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิด กระบวนทัศน์หรือวิสัยทัศน์  และที่สำคัญคือ Mindset หากยังยึดติดกับกระบวนการทำงานเดิมๆ ไม่ได้เอาเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์เป็นตัวตั้ง ก็ไม่สามารถ ไปต่อได้”

               ปัจจุบันในภาคมหาวิทยาลัย มีการจัดตั้ง Holding Company แล้ว 8 แห่งใน 8 มหาวิทยาลัย มีบริษัทที่ Spin-off หรือสตาร์ทอัพได้รับการสนับสนุนแล้ว 80 บริษัท เกิดการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท

               ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ถือตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนหรือ Holding company

               โดย ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ  อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า   ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีการขับเคลื่อนเรื่อง Holding company  มากขึ้น  ซึ่งเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นความมั่งคั่ง แต่ตั้ง Holding company  ขึ้น  เพื่อเปิดโอกาสให้งานวิจัยดี ๆ ที่บางครั้งเอกชนในเมืองไทยอาจจะยังไม่สนใจนำไปทำธุรกิจ   ได้มีโอกาสทดสอบ ทดลองออกมาในรูปแบบของบริษัท โดยใช้ Holding company  เป็นกลไกในการ Grooming   เช่น การแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ  และเริ่มดำเนินการแล้ว

               นอกจากนี้  Holding company ของมหาวิทยาลัย ยังเป็นโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้เข้ามาทำงานจริงในรูปแบบผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย  และท้ายสุดเชื่อว่า Holding company เป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่งของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภูมิภาค   ซึ่งในแต่ละปีมีนักศึกษาจบมาเป็นจำนวนมาก   การมี Holding company จะเป็นช่องทางที่ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นมีโอกาสในการทำธุรกิจจากนวัตกรรมในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ

               “Holding company ของ มช.ตอนนี้มี 13 บริษัทลูกที่อยู่ในอ่างแก้วโฮลดิ้ง ซึ่งมีหลายรูปแบบการตั้งบริษัท ทั้งจัดตั้งจากองค์ความรู้  หรือ Joint Venture กับบริษัทมืออาชีพ  การแปลงไอพีทุน หรือแม้กระทั่งขณะนี้ที่อ่างแก้วโฮลดิ้ง    เริ่มลงทุนในสตาร์ทอัพที่อุทยานวิทย์ฯ ของ มช. ปั้นขึ้นมาด้วย เพื่อช่วยให้เกิดการขยายขนาดธุรกิจ และในปีหน้า 2567 เราตั้งเป้าให้มีบริษัทเข้าไปที่อ่างแก้วโฮลดิ้ง อีก12 บริษัท”

               ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ   กล่าวด้วยว่า มช. ให้ความสำคัญกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผู้ประกอบการ เนื่องจากทักษะของผู้ประกอบการจำเป็นต่อทักษะในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Tech Spin-off จาก มช. เกิดการจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่มากขึ้น และที่สำคัญเป็นเครื่องมือช่วยเร่งการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ นอกจากนี้ มช.ยังเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการระดับโพนี่ (Pony) คือมีรายได้ 300 ล้าน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในเกณฑ์หลายราย

               ขณะที่ “นายราเมศวร์ ศิลปะพรหม” CEO บริษัท CU Enterprise จำกัด Holding company ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า  เป้าหมายของ CU Enterprise คือสร้างรายได้จากธุรกิจนวัตกรรมให้ได้  50,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่ออาจารย์ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ โดยอาจารย์สามารถใช้ Spin-off เป็น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำสอนนิสิตยุคใหม่ สร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์จากผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อสังคม และมีทุนวิจัยต่อเนื่อง

                ส่วนมหาวิทยาลัยก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศ และจะทำให้มีนักวิจัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หาก Spin-off สำเร็จจะมีเงินวิจัยปีละ 5,000 ล้านบาทต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้งบของมหาวิทยาลัย ในส่วนของประเทศก็จะสามารถยกระดับพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

               ดร.กิติพงค์ ย้ำว่า การร่วมกันผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมหรือ IDE เป็นจำนวนมาก คือ ความหวังและเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งการสร้างสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ต้องใช้เวลา  และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ตระหนักถึงศักยภาพที่คนไทยมี  จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนขึ้นมาให้รัฐบาลเห็นว่า นี่คือ แนวที่จะช่วยหารายได้ให้กับประเทศ และสามารถสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นมาได้อีกครั้ง

                “ฝากถึงรัฐบาล… หากอยากเห็นประเทศมีการเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่ต้องสนับสนุน นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปลดล้อกเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ และสนับสนุนเรื่องเงินลงทุนที่มีจากหลากหลายหน่วยงานแล้ว   รัฐบาลควรต้องตระหนักว่า ศักยภาพที่เรามีในมหาวิทยาลัยก็ดี ในกลุ่มของผู้ประกอบการนวัตกรรมก็ดี เรามีความพร้อมค่อนข้างมาก และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเห็นความพร้อมตรงนี้ และพร้อมเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง   โดยต้องมีพันธสัญญาและนโยบายที่ชัดเจน  มองการบริหารจัดการในระยะยาว   

               …เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ประเทศมีเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง และเป็นหนทางที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยขยับหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและเติบโตได้อย่างยั่งยืน”