เริ่มแล้ว “ ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง ”ชูงานวิจัยพัฒนาและแก้ไขปัญหาคนเมือง

News Update

อว.จับมือ กทม. และพันธมิตรจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” นำผลงานวิจัยและนวัตกรรม แก้ไขปัญหาคนเมือง นำกรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน”  

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567  ) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ผู้บริหารกระทรวง อว. และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร  เปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนอื่น ๆ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปใช้ประโยชน์ และสนับสนุนการทำงานของ กทม. โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2567 

นางสาวสุชาดา  แทนทรัพย์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เมืองประสบกับปัญหา ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ภาวะความยากจน ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาวะความปลอดภัย ภาวะผู้สูงอายุและภาวะความเหลื่อมล้ำด้านการบริการสาธารณสุข การป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วย ซึ่งกระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด เช่น ปัญหาความสะอาด ไฟฟ้า ประปา ทางเท้า

สำหรับงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง อว. ได้นำผลงานนวัตกรรมจำนวนมากมาจัดแสดง  เช่น  ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ  มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซ็นเซอร์ มีอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน โครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น  ด้านสุขภาพ  มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการ ลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล เพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ทำได้อย่างรวดเร็ว

 ด้านสังคม มีแอพพลิเคชั่นบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ  มีต้นแบบเผยแพร่ วัฒนธรรมไทย-จีน จากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่ม เปราะบางได้อย่างครอบคลุม  ส่วนด้านเศรษฐกิจ มีแอพพลิชั่นระบบบัญชีอัจฉริยะ มีแพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบมุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ   และด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้  มีแอพพลิเคชั่นคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ รมว.อว. ได้มอบนโยบายการพัฒนาเมืองให้กับหน่วยงานในกระทรวง อว. ไว้ 4 เรื่อง เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน คือ 1. เร่งรัดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน  สำหรับ กทม. ให้ทำงานร่วมกับ Bangkok City Lab และส่วนงานอื่น ๆ ในการนำโจทย์ความต้องการมา จับคู่กับผลงานวิจัยของ อว. ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง 2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม มาส่งเสริมให้เกิดย่านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ไปพร้อม ๆ กับการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย

3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคต และแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน ฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง อาคารสูง และการจัดการภัยพิบัติ และ 4. สนับสนุนการสร้างผู้นำท้องถิ่นและผู้นำเมืองยุคใหม่ เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่านหลักสูตรที่มีชุดความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม

ขอขอบคุณผู้จัดงานจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานร่วมจัดงานของ อว. ที่ร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา ดิฉันมั่นใจว่า กระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีบุคลากร มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานของ กทม. และทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง อว. และ กทม. ในระยะยาว เพื่อผลักดันให้ กทม. เป็น “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน (Innovative and Livable City for All)”

ด้าน รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (สกสว.) กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ว่า การพัฒนาเมืองในหลาย ๆ ด้านเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตใน หลากหลายมิตินั้นจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน อาทิ ข้อมูลที่ปัจจุบันที่ยังไม่มีการจัดเก็บหรือยังไม่ สามารถเชื่อมโยงกันได้ดี ทำให้ขาดข้อมูลที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ไม่สามารถคาดการณ์อนาคต ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตรงจุด เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือ เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพการศึกษา เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยพิบัติ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงเห็นความสำคัญและโอกาสที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมเชิงนโยบายและการสนับสนุนทุน ไปใช้ ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้เสนอให้มีการจัดงานตลาดนวัตกรรม 3 มุมเมืองขึ้น เพื่อแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวง อว. และหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเมืองและชุมชนท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. และกระทรวงมหาดไทย พร้อมหน่วยงานในสังกัด เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการพบกับนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเพื่อเกิดการจับคู่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไป ขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งเข้าถึงช่องทางการรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยบริหารและจัดการ ทุนต่าง ๆ และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้ผลงานนวัตกรรมสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและสังคมได้เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้น และมีความสามารถในการรับมือ ปรับตัว และฟื้นตัวจากวิกฤต ต่าง ๆ ได้

ซึ่งคำว่า  “3 มุมเมือง” ในงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ที่จัดขึ้นนี้ มีนัย 3 ประการ คือ1. การสะท้อน “ประเด็นปัญหาที่สำคัญ” ของเมืองและชุมชนท้องถิ่น ใน 3ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษาและการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนในอนาคต  ด้านเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนเมือง และด้านระบบกายภาพของเมือง อาทิ การจัดการระบบคมนาคมและผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการความ ปลอดภัย และภัยพิบัติสำหรับชุมชนเมือง

2.  ครอบคลุม “กลุ่มเป้าหมาย” 3กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคณะผู้บริหารและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ (Key users) ของผลงานวิจัยและนวัตกรรม กลุ่มเด็ก เยาวชน และบุคลากรด้านการศึกษา ในฐานะพลเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับ อนาคต  และกลุ่มภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ในฐานะพลเมืองผู้อยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯ และเป็นภาคีหุ้นส่วน ในการสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต

3. สื่อถึง “พื้นที่จัดงาน” โดยจัดแบ่งเป็น 3 โซนที่สำคัญ ได้แก่  โซนเมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) พื้นที่บริเวณภายในหอศิลป์ฯ และบริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน ซึ่ง มีบอร์ดนิทรรศการต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยเนื้องานเกี่ยวกับย่านสุขภาพ ย่านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ย่านการศึกษา และการเรียนรู้ ย่านเศรษฐกิจและชุมชน และย่านการจัดการเมืองและการมีส่วนร่วม  โซนเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) พื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ประกอบไปด้วย CityLab Livabele and Smart City และการจำหน่ายหนังสืองานวิจัย  และโซนเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ได้แก่ พื้นที่บริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน จะมีการออกร้านสินค้าชุมชน งานหัตถกรรม สินค้าเกษตรงานหัตถกรรม และศิลปวัฒนธรรม

 นอกจากนี้ยังมีการเสวนาที่จัดต่อเนื่องตลอด 3 วัน ทั้งหมด 15 ช่วง โดยวิทยากร 57 ท่าน จาก 22 หน่วยงาน รวมถึงมีกิจกรรมพิเศษ Workshop จัดโดยสภาเด็กและเยาวชน ที่จะมาระดมความคิดเห็นในการออกแบบการพัฒนาเมือง และการประกาศแนวทางให้ทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาเมืองและชุมชนด้วย